รูปแบบการลงทุน 3 สไตล์ในตลาดหุ้น แบบไหนที่ใช่คุณ
รูปแบบการลงทุนของนักลงทุน ถือเป็นสิ่งสำคัญที่เราควรทำความเข้าใจและศึกษาเพื่อให้เห็นภาพใหญ่ของตลาด และทำให้รู้จักตัวเองมากขึ้น
ซึ่งทั้ง 3 สไตล์ ล้วนแต่มีผู้ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากจากสไตล์การลงทุนเหล่านี้ เรียกได้ว่าแต่ละแบบสามารถทำให้ผู้คนร่ำรวยขึ้นมาได้อย่างแท้จริง แต่สไตล์ไหนจะเหมาะกับคุณนั้น มาดูกัน
1. นักลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental) หรือ นักลงทุนเน้นคุณค่า (Value Investor) หรือ VI
นักลงทุนสไตล์นี้มีความเชื่อว่าการซื้อหุ้น คือ การซื้อกิจการ เชื่อว่าสิ่งที่ส่งผลต่อราคาหุ้นอย่างแท้จริงคือผลประกอบการของบริษัท อีกทั้งจะมองการลงทุนในระยะยาว เพราะพื้นฐานกิจการอาจจะไม่สามารถสะท้อนออกมาที่ราคาหุ้นได้ในระยะเวลาสั้นๆ อาจจะต้องใช้เวลาในการรับรู้พื้นฐานที่แท้จริง เช่น รายได้เติบโตต่อเนื่อง กำไรเติบโตต่อเนื่อง กว่าจะสะท้อนมาที่ราคาหุ้น บางครั้งต้องใช้เวลานับปี หรือหลายๆ ปี นักลงทุนประเภทนี้จึงต้องเป็นนักลงทุนที่ใจเย็น อดทนรอเป็น มีจิตใจที่มั่นคง ไม่หวั่นไหวกับความผันผวนระยะสั้น
นักลงทุนที่มีชื่อเสียงในแนวปัจจัยพื้นฐานอันดับ 1 ก็คงหนีไม่พ้น วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) CEO ของ Berkshire Hathaway ที่มี Portfolio เต็มไปด้วยหุ้นระดับโลกที่เราๆ รู้จัก เช่น Apple Inc, Coca Cola Co, American Express Co, Visa Inc, Mastercard Incorporated, Hp Inc, Amazon Com Inc เป็นต้น และตัว วอร์เรน บัฟเฟตต์ ก็ติด 1 ใน 10 มหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในโลกต่อเนื่องนานนับทศวรรษ จึงทำให้ วอร์เรน บัฟเฟตต์ เป็นไอดอลของ VI พันธุ์แท้อย่างไม่ต้องสงสัย
การลงทุนแบบ VI มีความเรียบง่ายอย่างที่สุด แต่ก็มีความซับซ้อนซ่อนอยู่ข้างใน หัวใจสำคัญมีแค่การหาบริษัทที่ดี ซื้อในราคาที่เหมาะสม และอดทนรอให้ราคาสะท้อนมูลค่าที่แท้จริง หรือรอการเติบโตของบริษัทในระยะยาว ซึ่งจะทำให้เงินที่ลงทุนไปเติบโตไปด้วยนั่นเอง
นักลงทุน VI จะเน้นการวิเคราะห์พื้นฐานของบริษัทของหุ้นตัวนั้นเป็นหลัก โดยจะมีการวิเคราะห์ 2 รูปแบบ คือ การวิเคราะห์เชิงคุณภาพ และการวิเคราะห์เชิงปริมาณ
การวิเคราะห์เชิงคุณภาพ
การวิเคราะห์เชิงคุณภาพ คือ การวิเคราะห์ที่แสดงออกให้เห็นแบบนามธรรม ไม่อาจวัดค่าได้ แต่สามารถมองจากข้อมูลอื่นๆ ได้ เช่น ความสามารถในการแข่งขัน, แบรนด์ของบริษัท, ความน่าเชื่อถือของบริษัท, การเติบโตของบริษัท, โครงสร้างผู้ถือหุ้น เป็นต้น
การวิเคราะห์เชิงปริมาณ
การวิเคราะห์เชิงปริมาณ คือ การวิเคราะห์ที่แสดงออกให้เห็นแบบรูปธรรม ซึ่งจะเป็นเรื่องของตัวเลขที่สามารถคำนวณเพื่อวัดค่าได้ เช่น การวิเคราะห์งบการเงิน และอัตราส่วนทางการเงินย้อนหลังหลายๆ ปี
ซึ่งผลลัพธ์สุดท้ายจากการวิเคราะห์ทั้ง 2 อย่างนี้ที่นักลงทุน VI ต้องการก็คือ มูลค่าหรือราคาที่แท้จริง (Fair Price) ของหุ้นตัวนั้น เพื่อเอามาเปรียบเทียบกับราคาปัจจุบัน ดูว่าราคาหุ้นปัจจุบันแพงหรือถูก เพื่อใช้ในการตัดสินใจซื้อหรือขาย ซึ่งความเข้าใจหลาย ๆ คน จะเข้าใจว่า VI จะถือหุ้นยาวๆ เพราะมองว่าตัวเองเป็นเจ้าของกิจการ ซึ่งถูกแค่บางส่วน ในกรณีที่ราคาสะท้อนมูลค่าที่แท้จริงหรือ แพงเกินความเป็นจริง (Over Value) ก็อาจจะขายทำกำไรได้เช่นกัน
2. นักลงทุนสายเทคนิค (Technical)
นักลงทุนสายเทคนิค (Technical) คือ นักลงทุนที่ไม่สนใจพื้นฐานของหุ้นเลย ไม่สนว่าจะทำธุรกิจอะไร งบการเงินเป็นอย่างไร รวมถึง มูลค่าหรือราคาที่แท้จริง (Fair Value) คือเท่าไร ก็ล้วนไม่สนใจทั้งสิ้น รวมถึงยังสามารถลงทุนได้ทุกสินทรัพย์ที่สามารถเอาราคามาทำเป็นกราฟได้
นักลงทุนสายเทคนิคที่มีชื่อเสียง เช่น มาร์ติน ชวาร์ตซ์ (Martin Schwartz) ที่สามารถทำกำไรเฉลี่ยจากการเทรดหุ้นได้ถึงเกือบ 100% ต่อปี และยังทำกำไรยาวนานถึงกว่า 10 ปีอีกด้วย หรือ เจสซี่ ลิเวอร์มอร์ (Jesse Livermore) นักเทรดในตำนานที่ช่วงชีวิตของเขานั้น มีความผันผวนเป็นอย่างมาก มีทั้งช่วงที่ประสบความสำเร็จจนร่ำรวยระดับประเทศและหมดเนื้อหมดตัวจนต้องฆ่าตัวตายในที่สุด
นักลงทุนสายเทคนิค จะสนใจเพียงการวิเคราะห์เชิงเทคนิค เช่น Elliott Wave, Dow Theory, Chart Pattern, Harmonic Pattern, การตีเทรนด์ไลน์ รวมถึงการดู Indicator ต่าง ๆ เช่น EMA, MACD, RSI, ATR เป็นต้น
สิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับนักลงทุนสายเทคนิค คือ การ Stop Loss ตามสัญญาณที่กำหนดไว้ และ Money Management ถือเป็นหัวใจสำคัญของการลงทุนสายเทคนิคที่จะทำให้นักลงทุนอยู่รอดได้ในระยะยาว
นักลงทุนสายเทคนิค (Technical) มักจะถูกเรียกว่านักเก็งกำไร และมักจะมีภาพลักษณ์ในการลงทุนในระยะที่ค่อนข้างสั้น เช่น ซื้อขายจบในวันนั้น (Day Trade) ไม่ค่อยถือหุ้นนานๆ แต่ในความเป็นจริงแล้ว สายเทคนิคที่ถือหุ้นหลักเดือนหรือแม้แต่เป็นปีๆ ก็มีหากยังไม่มีสัญญาณขาย หรือยังอยู่ใน Pattern ที่วางแผนไว้ จึงไม่จำเป็นว่านักลงทุนสายเทคนิคจะต้องเป็นนักลงทุนระยะสั้นเสมอไป
3. นักลงทุนแนวโมเมนตั้ม (Momentum Investor : MI)
นักลงทุนแนวโมเมนตั้มเป็นนักลงทุนที่มองเศรษฐกิจภาพใหญ่ระดับ Global Economics ลงมาถึงเศรษฐกิจระดับประเทศ และลงทุนตามสินทรัพย์ที่กำลังอยู่ในเทรนด์ของช่วงเวลานั้น ๆ โดยเชื่อว่าตลาดมีวงจรของมันอยู่ และอาศัยปัจจัยด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม หรือใช้เหตุการณ์ต่างๆ เช่น ภัยธรรมชาติ เหตุการณ์ทางการเมือง มาเก็งกำไร เช่น ช่วงนี้น้ำมันจะขึ้น หุ้นหรือสินทรัพย์ใดจะได้ประโยชน์จากเทรนด์นี้ หรือ ช่วงนี้ดอกเบี้ยจะลง หุ้นหรือสินทรัพย์ใดจะได้ประโยชน์จากเทรนด์นี้ หรือช่วงนี้มีสงคราม สินทรัพย์ใดจะได้ประโยชน์จากเทรนด์นี้ นักลงทุนแนวโมเมนตั้มที่มีชื่อเสียงที่สุดโดยเฉพาะกับประเทศไทยก็คงหนีไม่พ้น จอร์จ โซรอส (George Soros) ผู้ที่เห็นช่องโหว่จากค่าเงินบาท และโจมตีค่าเงินบาททำกำไรจนเกิดเป็นวิกฤตต้มยํากุ้งที่ถือได้ว่าเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ที่สุดของตลาดหุ้นไทย
นักลงทุนแนวโมเมนตั้มนั้นนอกจากจะต้องเข้าใจวงจรเศรษฐกิจ และปัจจัยต่างๆ ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เช่น อัตราดอกเบี้ย, ราคาน้ำมัน, ค่าเงิน, การเมือง, GDP ฯลฯ อย่างทะลุปรุโปร่งแล้ว ยังต้องเข้าใจสินทรัพย์ที่ลงทุนอย่างลึกซึ้ง เพื่อที่จะให้มองภาพออกว่าเทรนด์ตอนนี้ทรัพย์สินใดจะเป็นขาขึ้น และทรัพย์สินใดจะเป็นขาลง
การลงทุนแนวโมเมนตั้ม ถือเป็นการลงทุนที่นักลงทุนจะต้องมีจุดตัดขาดทุน (Cut Loss) ซึ่งจะคล้ายๆ กับ Stop Loss ของนักลงทุนสายเทคนิค แต่จะแตกต่างกันที่ นักลงทุนสายเทคนิคจะมีจุด Stop Loss ที่ชัดเจน แต่นักลงทุนแนวโมเมนตั้มนั้น จะออกเมื่อเห็นว่าตัวเองผิดทาง ไม่มีกระแสโมเมนตั้มอย่างที่ตัวเองคิดนั่นเอง
นอกจากนี้แล้วยังมีนักลงทุนบางคนเรียกตัวเองว่า Hybrid ซึ่งเป็นการผสม 2 สายขึ้นไป เช่น สายพื้นฐาน + สายเทคนิค, สายพื้นฐาน + สายโมเมนตั้ม, สายเทคนิค + สายโมเมนตั้ม หรือ ใช้ทั้ง 3 สาย เลยก็มี
ตัวอย่างการใช้เช่น ใช้ทั้งปัจจัยพื้นฐาน (VI) และ ปัจจัยทางเทคนิค (Technical) ควบคู่กัน จะเป็นการดูปัจจัยพื้นฐาน (VI) ของบริษัท เช่น ธุรกิจ, งบการเงิน, Common Size, อัตราส่วนทางการเงิน ทำการหามูลค่าที่แท้จริง (Fair Price) ออกมา
และเมื่อหุ้นตัวนั้นผ่านเกณฑ์ต่าง ๆ ของปัจจัยพื้นฐาน (VI) หลังจากนั้นเราก็เอาหุ้นตัวนั้นมาดูปัจจัยทางเทคนิค (Technical) เช่น Chart Pattern และ Indicator ต่าง ๆ เพื่อหาจุดเข้าซื้ออีกที เป็นต้น
ซึ่งถ้าอ่านมาถึงตรงนี้แล้วก็ดูจะเป็นแนวทางที่ดีมากๆ แต่ในความเป็นจริงแล้ว แต่ละสายนั้นมีความรู้และประสบการณ์ที่ต้องเรียนรู้มากมาย กว่าจะเชี่ยวชาญในแต่ละสายได้นั้นต้องทุ่มเทอย่างมากเป็นเวลานานหลายปี อีกทั้งสายพื้นฐานและสายเทคนิคมักจะมีรูปแบบการเข้าและออกที่แตกต่างกัน ทำให้ผู้ที่ลงทุนแบบ Hybrid เกิดความสับสันได้ง่าย ว่าจังหวะนี้ควรใช้วิธีใด เช่น เมื่อหุ้นตกลงมาอย่างหนักจนถึงจุดที่ถ้าเป็น VI ควรเข้าซื้อแล้ว แต่ยังไม่มีสัญญาณทางเทคนิคให้ซื้อแล้วจะทำอย่างไร หรือเมื่อรอจนเกิดสัญญาณแล้ว แต่ราคากลับขึ้นสูงจนเลยจุดซื้อที่ประเมินมูลค่าไว้แล้วจะทำอย่างไร นั่นทำให้การลงทุนแบบ Hybrid มีความยากและซับซ้อนขึ้นกว่าการลงทุนแบบแนวทางเดียวเป็นไหนๆ
แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่ประสบความสำเร็จเสมอไป นักลงทุนที่มีความเป็น Hybrid และประสบความสำเร็จก็มีอยู่เช่นกัน แต่มักจะมีความชำนาญในสายหนึ่งเป็นอย่างมาก และอีกสายหนึ่งเป็นเพียงตัวเสริม เราจึงอยากแนะนำผู้ที่สนใจเป็นนักลงทุน Hybrid ลองศึกษาสายใดสายหนึ่งให้เชี่ยวชาญก่อน ค่อยลองขยับไปศึกษาสายอื่นๆ
และนี่ก็คือนักลงทุนในตลาดหุ้นแต่ละแบบที่สินเชื่อส่วนบุคคลพรอมิสสรุปมาให้ทุกคนดูกัน จะเห็นได้ว่าสายตามข่าวตามกระแสหรือสายวงในไม่มีนะ เพราะสายเหล่านี้มักจะขาดทุนอย่างหนักในตลาด หากใครยังเลือกสไตล์การลงทุนของตัวเองไม่ได้ แนะนำให้ลองศึกษาทุกสไตล์แล้วหากรู้สึกว่าชอบสไตล์ไหนเป็นพิเศษค่อยลงลึกในสายนั้น แต่จะต้องวางความรู้จากสายอื่นลงด้วยเพื่อป้องกันความสับสน และเพื่อความปลอดภัยแนะนำให้ใช้เงินเย็นในการลงทุนเท่านั้น และห้ามใช้มาร์จิ้น (Margin) หรือเงินกู้เป็นอันขาด สุดท้ายนี้พรอมิสขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จในการลงทุน แต่ถ้าขัดสนเรื่องเงินเมื่อใดคิดถึงเงินกู้คิดถึงสินเชื่อส่วนบุคคลพรอมิส