วิกฤตเงินกู้ 2567 และวิธีเอาตัวรอดฉบับมนุษย์เงินเดือน
หนี้ครัวเรือนไทยนับเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องติดตามที่สุดเรื่องหนึ่งของปี 2567 เนื่องจากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยเติบโตสูงขึ้นเรื่อย ๆ นับตั้งแต่การระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 2563 และยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดได้ ซ้ำยังมีวิกฤตเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่ประดังเข้ามาอย่างไม่หยุดหย่อน เช่น การทะลักเข้ามาของสินค้าจีน, การปิดตัวของโรงงานจำนวนมาก ซึ่งหนี้ครัวเรือนจำนวนมาก อาจส่งผลให้มีการเกิดหนี้เสีย (NPLs) มากขึ้น และส่งผลให้ธนาคารเกิดการขาดรายได้จากดอกเบี้ยเงินกู้ และสุดท้ายก็จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ เรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัว เราจึงควรติดตามตัวเลขนี้และใช้ชีวิตบริหารการเงินอย่างระมัดระวัง
หนี้ครัวเรือนไทยไปไกลระดับโลกจ่อแตะ 91.4% ต่อ GDP ภายในสิ้นปี 2567 หนี้บัตรเครดิต ลีสซิ่ง และสินเชื่อส่วนบุคคล โตเร็วสุดในรอบทศวรรษ
ในปี 2566 หนี้ครัวเรือนของไทยปรับขึ้นสู่ระดับ 91.3% ต่อ GDP นำโดยการขยายตัวของสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคและสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ขณะเดียวกันหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือหนี้เสีย (NPLs) ในกลุ่มอุปโภคบริโภค อสังหาริมทรัพย์ และยานยนต์ยังคงปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 นอกจากนี้ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีระดับหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (TTB Analytics) ประเมินว่าในสิ้นปี 2567 มีโอกาสจะเพิ่มขึ้นเป็น 91.4% ต่อ GDP โดยหนี้บัตรเครดิต ลีสซิ่ง และสินเชื่อส่วนบุคคล ขยายตัวเร็วที่สุดในรอบสิบปี นอกจากนี้ยังเตือนอีกว่าสถานการณ์ในอนาคตมีความเปราะบางสูงจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ เศรษฐกิจและรายได้ฟื้นช้า ต้นทุนทางการเงินสูง และพฤติกรรมการก่อหนี้ที่ขาดวินัยทางการเงินที่ดีโดยมีรายละเอียดดังนี้
1. เศรษฐกิจและระดับรายได้ฟื้นตัวช้า
แม้เศรษฐกิจไทยปี 2567 จะมีแนวโน้มดีขึ้นจากปีก่อน โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการส่งออกที่กลับมาขยายตัว แต่รายได้จากการส่งออกกว่า 90% กระจุกตัวอยู่ในธุรกิจขนาดใหญ่ขณะเดียวกันภาคการท่องเที่ยวที่ขับเคลื่อนโดยธุรกิจขนาดเล็กกลับฟื้นตัวช้ากว่า ทำให้มีการกระจุกตัวในด้านแรงงานสูง และฐานะการเงินของผู้ประกอบการขนาดเล็กส่วนใหญ่ยังเปราะบาง ซึ่งอาจกระทบต่อแรงงาน 71% ของแรงงานทั่วประเทศ ส่งผลให้ครัวเรือนบางส่วนอาจต้องการเงินกู้เพิ่มเติมเพื่อทดแทนสภาพคล่องที่หายไป
2. ต้นทุนทางการเงินสูงกว่าในอดีต
ในช่วงวิกฤตโควิด-19 มีนโบายผ่อนผันทางการเงินต่าง ๆ รวมถึงมีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เพื่อพยุงเศรษฐกิจ ทำให้การประเมินฐานะทางการเงินและความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ต่ำกว่าความเป็นจริง เมื่ออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้กระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ นอกจากนี้ภาระหนี้ที่ถูกพักหรือเลื่อนออกไปก่อนจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในช่วงวิกฤตจะถูกนำมาคิดทบต้นด้วย ทำให้ลูกหนี้มีแนวโน้มผิดนัดชำระหนี้ในอัตราเร่งที่ยากจะควบคุม
3. พฤติกรรมการก่อหนี้โดยขาดวินัยทางการเงินที่ดี
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หนี้ครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจ ทำให้หนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ในระดับสูงที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศที่มีรายได้เฉลี่ยใกล้เคียงกัน และสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศที่มีรายได้และความมั่งคั่งสูงกว่า ซึ่งหนี้ที่สูงเกินระดับ 80% ต่อ GDP นั้นไม่เพียงกระทบต่อการบริโภค แต่จะส่งผลเชิงลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว
หนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยเกิน 80% ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 และเกือบ 1 ใน 3 เป็นหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค เช่น สินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต ซึ่งเป็นหนี้ที่ไม่สร้างรายได้ (Non-Productive Loan) ซึ่งสูงเมื่อเทียบกับประเทศใกล้เคียงอย่างมาเลเซียและจีนที่ 14% และ 13% ตามลำดับ
ในระยะหลัง สินเชื่อที่ไม่สร้างรายได้ และหนี้นอกระบบเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยยะ สะท้อนให้เห็นถึงการก่อหนี้ที่ขาดวินัยทางการเงินที่ดี ซึ่งหนี้ประเภทนี้ต้องเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูง และเสี่ยงต่อกับดักหนี้ ทำให้การลดหนี้ครัวเรือนเป็นเรื่องยาก
หนี้เสียพุ่ง เป็นเหตุให้คุณภาพหนี้ครัวเรือนด้อยลง
สัดส่วนหนี้เสีย (NPLs) ในระบบธนาคารพาณิชย์สูงถึง 2.79% หรือเกือบ 1.52 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าถึง 3.6% ทำให้คุณภาพหนี้ครัวเรือนก็มีแนวโน้มด้อยลง
สัดส่วนหนี้ค้างชำระระหว่าง 1-3 เดือน หรือ Stage 2 อยู่ที่ 6.66% หรือ 3.62 แสนล้านบาท ซึ่งเกือบครึ่งหนึ่ง หรือราว 1.7 แสนล้านบาท มาจากสินเชื่อเช่าซื้อรถที่เพิ่มสูงเป็นประวัติการณ์ และยังไม่นับรวมหนี้จากผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-Bank) และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) อีกกว่า 35% ของทั้งระบบ
โดยสรุป ตราบใดที่เศรษฐกิจฐานรากยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้อาจไม่กลับมาเป็นปกติ และภาระหนี้ที่สูงจะยังคงเป็นปัจจัยฉุดรั้งเศรษฐกิจต่อไป การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนและเป็นระบบจึงมีความจำเป็น ทั้งนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้มีการยกระดับมาตรฐานกระบวนการให้สินเชื่อและการปฏิบัติกับลูกหนี้อย่างเป็นธรรม (Responsible Lending) ครอบคลุมตลอดวงจรหนี้ของลูกหนี้ ควบคู่ไปกับมาตรการสนับสนุนการคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามความเสี่ยง (Risk-Based Pricing) เพื่อปรับวินัยทางการเงินของครัวเรือนให้ดีขึ้น และเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาหนี้สินของครัวเรือนไทยในระยะยาว
7 วิธีปลดหนี้เงินกู้ให้หมดไว
สำหรับผู้ที่เป็นหนี้อยู่ เราจะหวังพึ่งแต่รัฐบาลมาแก้ปัญหาหนี้ก็ไม่ได้ วันนี้สินเชื่อพรอมิสมีวิธีปลดหนี้เงินกู้ให้หมดไวที่มนุษย์เงินเดือนสามารถนำไปใช้ได้เลยมาแนะนำกัน
1. กางเช็กลิสต์รายการหนี้ให้เห็นภาพรวม
ก่อนจะเริ่มต้นปลดหนี้ เราจำเป็นต้องรู้ก่อนว่ามีหนี้อะไรบ้าง เพราะหลายคนอาจมีหนี้มากกว่า 1 รายการ ไม่ว่าจะเป็นหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล, หนี้บัตรเครดิต, หนี้บัตรกดเงินสด หรือบางคนอาจจะมีหนี้นอกระบบ รวมไปถึงหนี้สินระยะยาว เช่น หนี้บ้าน หรือหนี้รถยนต์ เมื่อลิสต์รายการหนี้ออกมาแล้ว ก็จะเห็นภาพรวมการบริหารจัดหนี้ชัดเจนขึ้น และช่วยให้วางแผนชำระหนี้ได้ดียิ่งขึ้น
2. จัดอันดับความสำคัญของหนี้ จากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้
จัดอันดับความสำคัญของหนี้สิน โดยพิจารณาจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของสินเชื่อแต่ละประเภท เช่น ปิดหนี้นอกระบบให้หมดก่อน เพราะอาจจะถูกคิดอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าสินเชื่อในระบบ จากนั้นค่อยหาทางชำระหนี้ในระบบที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงอย่างสินเชื่อส่วนบุคคล, บัตรกดเงินสด หรือบัตรเครดิตเป็นลำดับถัดไป
3. วางแผนชำระหนี้สิน
เมื่อจัดอันดับความสำคัญของหนี้เสร็จเรียบร้อย ให้คุณวางแผนผ่อนชำระหนี้สินเพื่อปลดหนี้ โดยกำหนดว่าแต่ละเดือนจะกันเงินกี่เปอร์เซ็นต์เพื่อใช้ชำระเงินกู้ โดยไม่ควรให้กระทบต่อการดำรงชีวิตในประจำวันมากเกินไป ซึ่งแต่ละคนมีภาระค่าใช้จ่ายไม่เท่ากัน สัดส่วนตรงนี้จึงต้องแล้วแต่บุคคลนั้น ๆ จะรับไหว
4. เน้นชำระหนี้ก่อน ตามด้วยเก็บออม แล้วค่อยใช้จ่าย
นอกจากเรื่องปลดหนี้แล้ว การมีเงินเก็บไว้ใช้ยามฉุกเฉินหรือเพื่อเกษียณในอนาคตก็สำคัญ หลังจากเงินเดือนออก สิ่งที่ผู้มีหนี้สินควรทำเป็นอันดับแรกคือ จ่ายหนี้ก่อน ตามด้วยเก็บเงินออม แล้วค่อยเริ่มใช้จ่าย ไม่อย่างนั้นแล้วมีโอกาสเผลอใช้เงินหมด จนไม่สามารถหาทางปลดหนี้ได้ รวมถึงไม่มีเงินเก็บอย่างแน่นอน
5. วางแผนรายรับ-รายจ่าย
การวางแผนรายรับ-รายจ่าย เป็นขั้นตอนที่สำคัญ เพราะว่าคุณต้องใช้ชีวิตถึงวันสิ้นเดือน ด้วยเงินที่เหลืออยู่หลังจากผ่อนชำระหนี้และเก็บออมแล้ว โดยคุณสามารถทำบัญชีรายรับรายจ่ายด้วยตนเอง เพื่อให้บริหารค่าใช้จ่ายในแต่ละวันเพียงพอจนถึงวันเงินเดือนออก
การทำบัญชีรายรับรายจ่ายมีข้อควรรู้คือ ต้องจดบันทึกทุกรายการแม้ว่าเป็นค่าใช้จ่ายเล็กน้อย เช่น ค่าขนมจุกจิก หรือค่ารถโดยสารสาธารณะ มิเช่นนั้นแล้วตัวเลขในบัญชีจะน้อยกว่าความเป็นจริง ทำให้ประเมินแผนการเงินผิดพลาดไป และคุณควรลงรายการบัญชีอย่างสม่ำเสมอ โดยการพกพาสมุดเล่มเล็กติดตัว เพื่อป้องกันไม่ให้ลืมลงรายการใช้จ่าย
6. การรีไฟแนนซ์และการเจรจาประนอมหนี้
หากต้องการปลดหนี้ให้ไว การลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้ได้ต่ำที่สุดเป็นตัวช่วยที่ดี การจัดการหนี้ในระบบด้วยการใช้สินเชื่อรีไฟแนนซ์ เพื่อให้ดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำลง เช่น หากเป็นหนี้บ้านแนะนำให้รีไฟแนนซ์ทุกๆ 3 ปี ส่วนรถยนต์สามารถรีไฟแนนซ์ได้ทันทีเมื่อผ่อนเกินกว่า 50% ของยอดหนี้ขึ้นไป และถ้าเป็นหนี้ส่วนบุคคล อาจขอสินเชื่อรวมหนี้เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำลงก็ได้เช่นกัน
และหากเริ่มรู้สึกว่าชำระไม่ไหว อย่าหลีกเลี่ยงการชำระหนี้ เพราะจะทำให้ปัญหาหนี้สินรุนแรงขึ้นกว่าเดิมจนอาจจะแก้ไขไม่ได้ในระยะยาว แต่ให้หาทางเจรจากับเจ้าหนี้โดยอาจขอปรับโครงสร้างหนี้, ขอเข้าโครงการคลินิกแก้หนี้, ขอพักชำระหนี้, ขอขยายระยะเวลาผ่อนชำระ หรือขอเจรจาด้วยเงื่อนไขอื่น ๆ ที่คิดว่าจะสามารถจ่ายคืนเงินต้นได้
7. เพิ่มรายได้ลดรายจ่ายเพื่อชำระหนี้
ถึงแม้ว่าจะวางแผนปลดหนี้อย่างเป็นระบบแล้วก็ตาม หากไม่มีเงินมาชำระหนี้เพราะรายได้ไม่เพียงพอ ก็จำเป็นต้องมองหาแหล่งรายได้อื่น ๆ เช่น ทำงานเสริม หรือเปลี่ยนงานใหม่ รวมถึงการหาความรู้ใหม่ ๆ ที่ช่วยนำไปสู่รายได้ที่เพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ไม่ใช่แค่หาทางเพิ่มรายได้ การลดรายจ่ายก็สำคัญเช่นกัน โดยอาจพิจารณาลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ซึ่งจะช่วยให้มีเงินจ่ายหนี้เพิ่มอีกทาง
สุดท้ายนี้พรอมิสขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จในการปลดหนี้ แต่ถ้าขัดสนเรื่องเงินเมื่อใดคิดถึงเงินกู้คิดถึงสินเชื่อส่วนบุคคลพรอมิส
กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว
ดอกเบี้ย 15%-25% ต่อปี
*กรุณาศึกษาข้อมูลผลิตภัณฑ์ก่อนการสมัครที่ promise.co.th
*เงื่อนไขเป็นไปตามที่บริษัทฯ และธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด