วิธีปลดหนี้หลักล้าน และถ้าโดนฟ้องต้องทำอย่างไร
ทุกคนทราบหรือไม่ว่าสถานการณ์หนี้ครัวเรือนในประเทศไทยกำลังย่ำแย่อย่างมาก หลายๆ ครอบครัวล้วนมีหนี้สินไม่ว่าจะหลักหมื่น หลักแสน หรือหลักล้าน บ้างก็ต้องมีหนี้เพราะความจำเป็นของที่บ้าน หรือมีหนี้เพราะความจำเป็นของตัวเอง บ้างก็มีหนี้เพราะความไม่รู้ และหลายคนมีปัญหากับการหมุนเงินให้พอใช้ทุกเดือน ต้องกู้วนไปเป็นหนี้ไม่จบสิ้น ซึ่งสินเชื่อพรอมิสในฐานะที่เป็นสถาบันการเงินให้กู้เงินแบบถูกกฎหมาย จึงอยากนำเสนอเนื้อหาบทความที่เกี่ยวกับหนี้สิน เพื่อให้คนไทยตระหนักรู้มากขึ้น
ภาระหนี้ของคุณเข้าขั้นวิกฤตหรือยัง
วิธีเช็กว่าคุณเป็นหนี้ในระดับเข้าขั้นวิกฤตหรือยัง คือตอบคำถามง่ายๆ 3 ข้อนี้
1. เริ่มชำระหนี้ขั้นต่ำทุกรายการ ใช่หรือไม่
2. อัตราส่วนเงินชำระหนี้ต่อรายได้มากกว่า 40% ใช่หรือไม่
3. กู้เพื่อกิน กู้เพื่อใช้ กู้เพื่อผ่อน ใช่หรือไม่
ถ้าตอบใช่แม้เพียงข้อใดข้อหนึ่ง แสดงว่าภาระหนี้ของคุณเข้าขั้นวิกฤตแล้ว แต่ถ้าคุณยังอยากหลุดพ้นจากการมีหนี้รัดตัวและอยากมีอิสรภาพทางการเงิน จงอ่านต่อ
คุณมีหนี้รัดตัวเพราะนิสัย 7 อย่างนี้
ก่อนอื่นคุณต้องรู้ตัวก่อนว่าอะไรที่ทำให้คุณยังเป็นหนี้รัดตัว หาเงินแต่ละเดือนได้ก็เอามาลงกับหนี้ ต้องกู้วนเพื่อใช้กินใช้อยู่ให้พ้นเดือน บางรายซ้ำกู้เงินมาเพื่อจ่ายหนี้อีกที เพราะนิสัย 7 อย่างนี้ที่คุณเองก็อาจจะไม่รู้ตัวว่ากำลังเป็นอยู่
1. ใช้จ่ายไม่ยั้งคิด
คุณจะฟุ่มเฟือยบ้างนิดหน่อยเป็นการให้รางวัลตัวเองก็ได้แต่ห้ามใช้เงินเกินตัว ไม่ใช่อยากกินของแพงๆ ก็กินมันทุกวัน อยากช็อปปิ้งเพื่อตัวเองก็เลยซื้อของแบบไม่ยั้งใจ แบบนี้อันตรายมาก
2. พอเงินไม่พอก็หาหยิบยืมคนอื่น
เงินเดือนหมดก่อนสิ้นเดือนตลอด ต้องคอยไปหายืมเสริมจากคนรอบข้างทีละนิดทีละหน่อยพอให้รอดจนถึงวันเงินออก แบบนี้คงไม่พ้นมีหนี้ทุกเดือน
3. ไม่มีระเบียบทางการเงิน
ไม่สนใจว่าตัวเองใช้เงินไปกับอะไรบ้าง หนี้ที่กู้มาก็จ่ายเกินวันชำระจนโดนทวงถามบ่อยๆ ทำเอกสารใบแจ้งหนี้/สัญญากู้เงิน ฯลฯ หายบ่อยๆ ไม่มีความรับผิดชอบกับการเงินของตัวเอง
4. ไม่วางแผนการเงินแม้จะก้อนเล็กใหญ่
ปล่อยให้เงินเป็นไปตามยถากรรม ไม่ควบคุมเงินแต่ยอมให้เงินควบคุมตัวเอง ไม่มีการวางแผนการใช้เงินระยะสั้นและระยะยาว ไม่เคยคิดว่าอีก 3 เดือนข้างหน้าการเงินจะเป็นอย่างไร แล้วอีก 6 เดือนข้างหน้าการเงินจะเป็นอย่างไร หากวางแผนล่วงหน้าเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินก็จะไม่เดือดร้อนมากนัก
5. มองว่าการออมเงินเป็นสิ่งที่ไว้ทำทีหลัง
มีหนี้เยอะก็ออมได้ถ้าแบ่งเป็น ออมบาทเดียวก็คือออม แต่การไม่ออมเลยเพราะจะจ่ายแต่หนี้ให้หมดก่อน ก็ให้ลองนึกว่าแล้วถ้าคุณจ่ายหนี้จนเงินไม่พอใช้ในเดือนนั้นก็ต้องเป็นหนี้อีกไม่ใช่หรือ จะกี่บาทก็ควรแบ่งมาออมนะ
6. ไม่มีเป้าหมายทางการเงิน
การตั้งเป้าหมายว่า อีก 3 ปี 5 ปี หรือ 10 ปีหลังจากนี้การเงินของคุณจะอยู่ในจุดไหน ก็จะทำให้มีเป้าหมายในการหาเงิน ใช้เงิน เก็บเงิน และวางแผนการเงินได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น
7. ไม่หาความรู้ทางการเงิน
สิ่งสำคัญหลักๆ ของการจัดการเงินคือ การหาเงิน การใช้เงิน การออมเงิน และการลงทุน คนรายได้น้อยที่ไม่มีปัญหาการเงินก็มี คนรายได้เยอะที่มีปัญหาการเงินก็มี ซึ่งก็จะขึ้นอยู่กับการจัดการเงิน ยิ่งโดยเฉพาะการลงทุน ถ้าศึกษาเอาไว้ก็จะได้ไม่ลงเงินที่ตั้งใจเก็บมาไปกับความเสี่ยงในการลงทุน ดังนั้นคนไม่มีความรู้ทางการเงินก็จะรักษาเงินของตัวเองเอาไว้ไม่ได้
วิธีปิดหนี้แบบคนทั่วไป
หนี้เยอะทำอย่างไรดี? หากภาระหนี้ของคุณยังไม่เข้าขั้นวิกฤต ให้ทำตามนี้
1. อย่าก่อหนี้เพิ่ม
หากคุณเริ่มกู้มากินมาใช้วนไปทุกเดือน พอเงินหมดก็เริ่มคิดว่าจะหายืมใครดี แสดงว่าคุณกำลังเสพติดการก่อหนี้อยู่ แต่มันเป็นวิธีที่จะทำให้คุณไม่หลุดพ้นจากการเป็นหนี้ คุณควรถามตัวเองว่าคุณต้องทำอย่างไรถึงจะมีเงินมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันหรือหาเงินมาใช้หนี้ได้โดยที่ไม่ต้องกู้เงินเพิ่ม
2. ลิสต์หนี้ทุกรายการที่มีอยู่
ใครที่มีภาระหนี้รุมเร้า ก่อนอื่นตั้งสติ แล้วแจกแจงรายการหนี้ว่ามีกู้ยืมกับใครบ้าง ยอดเท่าไหร่ เขียนลงใส่กระดาษเป็นตารางก็ได้แล้วแต่ถนัด เขียนออกมาให้ครบทุกรายการหนี้ ข้อนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้คุณรู้ว่าหนี้ก้อนไหนควรจัดการก่อน
3. นำโบนัสหรือเงินก้อนที่ได้มาชำระหนี้
ถ้าคุณกำลังมีแพลนจะได้รับเงินก้อน ที่ไม่ใช่จากการกู้ยืม ไม่ว่าจะได้จากโบนัส ค่าแรง จากอาชีพเสริม หรือจากขายของที่ไม่ใช้แล้วเปลี่ยนเป็นเงิน ขอแนะนำให้เอาเงินก้อนนั้นมาชำระหนี้เพื่อตัวคุณเอง โดยวิธีการปิดหนี้ที่มีประสิทธิภาพมีดังนี้
3.1 ปิดหนี้ทีละรายการ
ไม่ควรกระจายเงินทีละเล็กละน้อยใส่หนี้หลายก้อน เพราะภาระหนี้ของคุณจะไม่ค่อยลดมากนัก เหมือนเอาเงินไปจ่ายแบบเสียเปล่า
3.2 ปิดจากหนี้ประเภทลดต้นลดดอก
พวกหนี้รถที่คิดดอกเบี้ยล่วงหน้ารวมในยอดผ่อนแล้วไม่ควรเริ่มปิดหนี้จากยอดนี้ หนี้แบบลดต้นลดดอกที่คุณควรเริ่มปิดคือ บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบ้าน เป็นต้น
3.3 เลือกโปะหนี้ที่ดอกเบี้ยสูงสุดก่อน
หากมีเงินก้อน ควรโปะอันที่ดอกเบี้ยสูงสุดก่อน หากคุณลิสต์รายการหนี้ทั้งหมดออกมาแล้ว ลองใส่อัตราดอกเบี้ยเข้าไปด้วย จะได้รู้ว่าหนี้ก้อนไหนดอกเบี้ยสูง โดยเฉพาะใครที่กู้หนี้นอกระบบแล้วโดนคิดอัตราดอกเบี้ยสูง ขอให้รีบปิดหนี้ก้อนนั้นก่อน หลังจากนั้นค่อยนำเงินไปโปะหนี้ก้อนอื่นที่ดอกเบี้ยสูงตามลงมา
4. ชำระหนี้ด้วยเงินคงเหลือ
ใครที่ไม่มีทั้งเงินก้อนและกู้เงินเพิ่มก็ไม่ได้ สิ่งที่ควรทำคือการจ่ายขั้นต่ำทุกรายการไปก่อน พอเหลือเงินค่อยเอาไปโปะในหนี้ที่ควรปิดมากที่สุดตามลำดับ วิธีหาว่าจะต้องโปะหนี้รายการไหนก่อน คือการดูว่าหนี้รายการไหนที่ใช้เวลาโปะได้เร็วสุดก็ให้เริ่มจากนี้ก้อนนั้นก่อน โดยการนำยอดหนี้คงค้างตั้ง หารด้วยยอดชำระขั้นต่ำที่ถูกเรียกเก็บ ก็จะได้เป็นระยะเวลาออกมา หากมีหนี้ก้อนที่ระยะเวลาเท่ากัน ให้ใช้สูตรนี้ในการเรียงลำดับ คือ ระยะเวลาใช้หนี้หมด (ต้องน้อยกว่า) → ดอกเบี้ย (ต้องสูงกว่า) → หนี้คงค้าง (ต้องต่ำกว่า)
วิธีปิดหนี้แบบคนเข้าขั้นวิกฤต
หนี้เยอะทำอย่างไรดี? ยาแรงสำหรับคนเป็นหนี้เข้าขั้นวิกฤต จริงๆ แล้วจะแนะนำให้หารายได้เพิ่ม และงดกู้เงินเพิ่มโดยเด็ดขาด แต่ถ้ายังไม่รู้ว่าจะหารายได้เพิ่มอย่างไร ให้จัดการกับหนี้ที่มีตามนี้ก่อน คือ
1. เจรจากับเจ้าหนี้
นาทีนี้ใครมัวแต่กลัวระวังจะชีวิตหมองมัวได้ ยิ่งถ้าคุณหนีเจ้าหนี้โดยการผิดนัดชำระชีวิตคุณจะหมองมัวกว่านี้อีก คุณควรโทรไปหาสถาบันการเงินที่กู้เงินมา และขอเจรจาเรื่องการชำระหนี้ เช่น อาจจะขอพักชำระหนี้ชั่วคราว, ขอลดดอกเบี้ย, ขอยืดระยะเวลาผ่อนชำระ เป็นต้น แต่ไม่ควรหนีหนี้เพราะคุณจะลำบากในภายหลังแน่ๆ ไม่ว่าจะเป็น เครดิตแย่อนาคตจะกู้เงินอะไรก็ทำได้ยาก หรือโดนค่าติดตามทวงถามบวกไปกับดอกเบี้ยที่ถูกคิดทบไปทุกวัน โผล่มาอีกทีดอกเบี้ยมันจะสูงกว่าเงินต้นเอา ระวังช็อกได้ แล้วก็เสี่ยงโดนฟ้องร้องอีกด้วย
ในปัจจุบันมีตัวกลางที่คอยช่วยเจรจากับสถาบันการเงิน ได้แก่ “ทางด่วนแก้หนี้” สำหรับลูกหนี้ยังไม่เป็นหนี้เสีย (ค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน) และ “คลินิกแก้หนี้ by SAM” สำหรับลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสีย (ค้างชำระเกิน 3 เดือน) ซึ่งทั้งสองเป็นช่องทางที่ถูกกฎหมายเพราะอยู่ภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย
2. ตัดขายหนี้รายการใหญ่
เช่น หนี้ผ่อนบ้านหรือรถยนต์ หากผ่อนต่อไม่ไหวจริงๆ ให้ขายทิ้งเพื่อให้พอมีสภาพคล่องทางการเงินเพิ่มขึ้นมาบ้าง อย่ามัวแต่มีอีโก้แบกภาระหนี้เอาไว้เพราะจมไม่ลง เนื่องจากตอนนี้คนที่มีหนี้เข้าขั้นวิกฤตก็เหมือนเรือมีรอยรั่วที่กำลังจะจมอยู่แล้ว ถ้ายังไม่ยอมทิ้งสัมภาระหนักๆ ออกไปจากเรือ ก็จะได้จมลงไปใต้น้ำจริงๆ
แต่หากเจรจาแล้วไม่ได้รับการช่วยเหลือ ทำตามวิธีข้างบนแล้วยังเหลือหนี้อยู่ วิธีสุดท้ายคือ หยุดพักชำระหนี้เพื่อทยอยสะสมเงิน และรอเจรจาอีกครั้ง
3. หารายได้เพิ่ม งดกู้เงินเพิ่มโดยเด็ดขาด
ต่อให้ลดรายจ่ายเท่าไหร่แต่บางทีก็อาจจะไม่พอ และในเมื่อมันวิกฤตแล้ว คุณต้องเริ่มเปลี่ยนความคิดใหม่ ลองไม่คิดเรื่องภาระหนี้แล้วคิดไอเดียในการหารายได้เพิ่มที่ตัวคุณอยากทำมันออกมา และจะดีมากถ้าต้นทุนที่คุณใช้คือสิ่งที่ติดตัวคุณมาอยู่แล้ว เช่น ความรู้ ทักษะ งานอดิเรก ไอเดีย ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องมีเงินทุนเป็นแสนเป็นล้านก็เริ่มต้นได้ และเริ่มได้เลยทันที ขอแค่เริ่มต้นทำมัน และมีความสม่ำเสมอ เริ่มจากเล็กๆ ก่อนแล้วค่อยพัฒนาให้มันใหญ่มากขึ้น
ทำอย่างไรเมื่อต้องขึ้นโรงขึ้นศาล
เมื่อเจ้าหนี้หรือสถาบันการเงินฟ้องร้องคุณจนมีหมายศาลมาหาถึงบ้าน ควรไปที่ศาลเพื่อเจรจาหาทางออกร่วมกับเจ้าหนี้ และสิ่งที่แนะนำว่าควรทำเลยก็คือ
1. ไปตรงเวลาตามที่ศาลนัด
อย่าผิดนัดศาลเด็ดขาด จริงๆ แล้วการไปศาลคือโอกาสสุดท้ายที่คุณต้องห้ามหนี หากคุณหนีหนี้มาตลอด ถ้าหนีศาลอีกจะมีการตัดสินและบังคับคดี อาจโดนหนักถึงขั้นถูกอายัดเงินเดือน หรือถูกยึดทรัพย์ขายทอดตลาดได้ เนื่องจากเจ้าหนี้มีหลักฐานว่าคุณกู้เงินจริงและไม่ชำระจริง การมาตามที่ศาลนัดถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ไปเพื่อเจรจาไกล่เกลี่ยกับเจ้าหนี้เสียดีกว่า
2. เตรียมแผนการเจรจา
เป็นการเจรจาว่าจะสามารถชำระหนี้คืนได้เท่าไหร่และอย่างไร โดยหากพอมีเงินชำระปิดหนี้ได้อาจลองเจรจาขอส่วนลดเพื่อจ่ายปิดหนี้ทั้งจำนวน หรือถ้าหากไม่มีเงินพอจะชำระหนี้ทั้งหมด อาจลองเจรจาขอโปะเงินก้อนส่วนหนึ่ง และที่เหลือค่อยทยอยผ่อนคืนเท่าไหร่อย่างไรก็ตกลงกันอีกที
3. ไม่รับปากในสิ่งที่ทำไม่ได้
ไม่ว่าจะเป็นการเซ็นประนอมหนี้ หรือเซ็นข้อตกลงเกี่ยวกับการชำระหนี้ต่างๆ หากคุณไม่สามารถทำตามสิ่งที่อยู่ในสัญญาได้ ห้ามเซ็นเด็ดขาด เพราะถือว่ามันจะเป็นข้อผูกมัดรัดตัวคุณที่มีปัญหาอยู่แล้ว อย่าคิดแค่ว่าเซ็นเพื่อให้เรื่องจบๆ ไป ยิ่งทำในสิ่งที่เซ็นสัญญาไปแล้วไม่ได้ เรื่องราวจะยิ่งไม่จบและยุ่งยากมากกว่าเดิม
4. หากก่อนไปศาลสามารถเจรจาได้ ให้เจรจาก่อน
ก่อนวันศาลนัด บางกรณีทางสถาบันการเงินจะมีการชี้แจงเงื่อนไขให้ก่อน หรือคุณจะลองรุกเจรจาเองก่อนก็ได้เช่นกัน หากคุณพิจารณาแล้วว่าสามารถทำตามเงื่อนไขที่คุณจะได้รับได้ก็ถือว่าตามนั้น หากทำไม่ได้ควรเจรจา เพราะอย่างไรการไปศาลก็คือการตกลงในสิ่งที่คุณทำได้ ระลึกไว้เสมอว่าเมื่อกู้เงินแล้วก็ต้องคืน นี่คือการแสดงความรับผิดชอบต่อการเงินของตัวเองและผู้อื่น
บทสรุป
คนเป็นหนี้ไม่ใช่คนไม่ดี แต่คนเบี้ยวหนี้เครดิตไม่ดี หากคุณไม่มีความรับผิดชอบกับการเงินของตัวเองก็ไม่มีใครสามารถช่วยเหลือคุณได้ ควรศึกษาหาความรู้เรื่องการเงิน และใช้เงินอย่างมีสติเสมอ หากคุณหนีหนี้มาตลอดจนโดนหมายศาล การไม่หนีจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด และนี่คือวิธีปลดหนี้หลักล้านกับวิธีรับมือกับการถูกฟ้องศาล หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกคนไม่มากก็น้อย
ข้อมูลอ้างอิง
E-Book: จักรพงษ์ เมษพันธุ์, เปลี่ยนหนี้เป็นอิสรภาพการเงิน, กรุงเทพฯ, สำนักพิมพ์ซีเอ็ดยูเคชั่น, 2563
ส่วนใครที่เป็นพนักงานเงินเดือนที่มีปัญหาหมุนเงินไม่ทันและต้องการเงินกู้ถูกกฎหมาย อนุมัติไวใน 1 ชั่วโมง* เลือกสมัครสินเชื่อพรอมิสได้ 3 ช่องทางคือ
- ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันได้แล้วที่ : https://bitly.promise.co.th/blog2410_05
- สมัครผ่านเว็บไซต์ได้ที่ : https://www.promise.co.th/application.html
- ยื่นเอกสารโดยตรงที่สาขาใกล้บ้าน : ตรวจสอบสาขาพรอมิสได้ที่นี่
กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว
ดอกเบี้ย 15%-25% ต่อปี
*กรุณาศึกษาข้อมูลผลิตภัณฑ์ก่อนการสมัครที่ promise.co.th
*เงื่อนไขเป็นไปตามที่บริษัทฯ และธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
*หากยื่นเอกสารครบถ้วนภายใน 18:00 น. และไม่มีเหตุขัดข้องด้านเอกสารหรือระบบ จะสามารถอนุมัติได้ภายใน 1 ชั่วโมง หรือภายในวันถัดไป