บริหารเงินยังไงเมื่อรายรับน้อยกว่ารายจ่าย?
จากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันนี้ คงจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า มีหลายคนที่กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาด้านการเงินอย่างหนักหน่วง บางคนอาจจะโดนลดเงินเดือนทำให้รายได้ลดลง บางคนอาจจะไม่ได้โบนัสตามที่ตั้งเป้าไว้ หรือบางคนอาจต้องย้ายไปเริ่มงานที่ใหม่ที่ให้เงินเดือนน้อยกว่า แน่นอนว่า แม้รายรับของเราจะลดน้อยลง แต่ใช่ว่ารายจ่าย และหนี้ต่าง ๆ ที่เรามีอยู่จะลดลงตามไปด้วย ดังนั้น การบริหารเงิน จึงเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญและใส่ใจเป็นอย่างมาก
โดยในบทความนี้ PROMISE จะพาคุณมาเรียนรู้เทคนิคในการจัดการเงินเมื่อรายรับน้อยกว่ารายจ่าย เพื่อให้คุณเตรียมพร้อมรับมือและแก้ไขปัญหาในช่วงนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แล้วเทคนิคในการบริหารจัดการเงินเมื่อรายรับน้อยกว่ารายจ่ายจะมีอะไรบ้าง เราไปดูกัน
วิธีบริหารเงินเมื่อรายรับน้อยลง
สำหรับวิธีบริหารเงินเมื่อรายรับน้อยกว่ารายจ่ายที่เราจะมาแนะนำต่อไปนี้ เป็นเพียงแนวทางที่จะช่วยให้คุณสามารถจัดสรรและบริหารเงินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ โดยสามารถแบ่งได้ทั้งหมด 5 วิธี ดังนี้
1.วางแผนการใช้เงินให้ชัดเจน
สิ่งแรกที่จะต้องทำเมื่อรายได้ของเราลดลงก็คือ การวางแผนการใช้เงินให้ชัดเจน โดยจะต้องจำแนกหมวดหมู่ต่าง ๆ ออกมาอย่างจริงจัง เพื่อให้ทราบได้ว่า รายจ่ายต่อเดือนของเรามีมากน้อยแค่ไหน มีรายรับเท่าไหร่ ซึ่งหากพบว่าเรามีรายจ่ายมากกว่ารายรับ ก็จะต้องมาหารายจ่ายที่สามารถลดได้ เพื่อทำให้รายรับของเรามากกว่าหรือเท่ากับรายจ่าย นอกจากนี้ เมื่อวางแผนการใช้เงินออกมาแล้ว ก็ควรจะใช้จ่ายตามที่กำหนดไว้ หากมีส่วนที่ใช้เกินก็ให้หักลบจากรายจ่ายส่วนอื่น เพื่อไม่ให้รายจ่ายมากกว่ารายรับและไม่กระทบกับการเงินในอนาคต
2.ใช้เงินให้รอบคอบตัดใจจากสิ่งที่ไม่จำเป็น
ในระหว่างที่วางแผนการใช้เงิน และพบว่ามีรายจ่ายไม่จำเป็นที่ทำให้รายรับไม่เพียงพอ สิ่งสำคัญที่คุณจะต้องยึดมั่นและทำให้ได้ก็คือ การตัดใจจากรายจ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น ค่ากาแฟ ซื้อหวย ค่าบุหรี่ เป็นต้น แม้ว่าการตัดรายจ่ายส่วนนี้ออกไป อาจจะทำให้ความสุขในการใช้ชีวิตของเราลดลง แต่เพื่อสภาพคล่องทางการเงินที่ดีในอนาคต ก็ถือว่าคุ้มที่จะแลก
3.จัดสรรภาระหนี้ให้รัดกุม
อย่างที่บอกไปว่า แม้รายรับจะลดลง แต่หนี้ที่มีอยู่ไม่ได้ลดตามไปด้วย และยังต้องจ่ายอยู่ตลอด ดังนั้น หากพบว่ารายรับไม่เพียงพอที่จะนำไปจ่ายหนี้ ก็ควรจะปฏิบัติตัว ดังนี้
- จดรายการหนี้ทั้งหมดที่มี เพื่อให้รู้ว่าเรามีหนี้อะไรบ้าง จำนวนเท่าไหร่ อัตราดอกเบี้ยเท่าไหร่ และมีกำหนดจ่ายเมื่อไหร่บ้าง
- ยื่นขอช่วยเหลือตามมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของภาครัฐ โดยการติดต่อสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้เพื่อขอเข้าร่วมมาตรการ
- ติดต่อสถาบันการเงินเพื่อขอประนอมหนี้ ในกรณีที่ได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการแล้วแต่ยังมีเงินไม่พอชำระหนี้ หรือไม่สามารถเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือได้ ควรจะติดต่อสถาบันการเงินเพื่อขอประนอมหนี้ เช่น ลดจำนวนเงินผ่อนต่อเดือน ขยายระยะเวลาผ่อนชำระ เป็นต้น
4.สร้างวินัยการออมให้มากขึ้น
นอกจากการวางแผนการใช้เงินแล้ว อีกสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามเลยก็คือ การสร้างวินัยในการออม โดยแนะนำว่า เมื่อรายรับของเราเข้ามา ให้แบ่งเงินออม 10% ของรายได้ก่อนนำเงินไปใช้จ่าย และแยกในบัญชีเงินออมอย่างเป็นระบบ ซึ่งการออมก่อนใช้นี้ จะทำให้คุณสามารถสร้างวินัยในการออมได้มากกว่าการออมเงินที่เหลือจากการใช้จ่าย
5.หาช่องทางสร้างรายได้พิเศษ
เมื่อรายได้ลดลง และไม่เพียงพอต่อรายจ่ายแม้ว่าจะรัดเข็มขัดมากเพียงใด การมองหาช่องทางสร้างรายได้พิเศษ ก็จะช่วยให้เรามีรายรับที่เพียงพอต่อรายจ่ายในแต่ละเดือนได้ ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีรายรับจากอาชีพเสริมเพิ่มขึ้นมาแล้ว ก็อย่าเพิ่งนิ่งนอนใจ ใช้เงินสุรุ่ยสุร่าย แนะนำว่าให้แบ่งเงินก้อนนี้ไปเก็บออมและนำไปชำระหนี้ให้หมดก่อนจะดีกว่า
สรุปบทความ
หากคุณต้องเผชิญกับปัญหารายรับน้อยกว่ารายจ่าย สิ่งสำคัญที่คุณควรทำเป็นอันดับแรกคือ การสร้างวินัยทางการเงินที่ดี พยายามลด ละ เลิกนิสัยใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย และจัดสรรการเงินให้รัดกุม เพื่อลดโอกาสการก่อหนี้ในอนาคต ทั้งนี้ หากคุณสามารถหาวิธีจัดสรรเงินในแต่ละเดือนให้มีประสิทธิภาพและเพียงพอต่อรายจ่ายได้แล้ว แต่เกิดเหตุจำเป็นต้องใช้เงินเพิ่มเติม ก็สามารถสมัครสินเชื่อส่วนบุคคลเพื่อนำเงินไปหมุนเวียนใช้จ่าย และเสริมสภาพคล่องให้กับตัวเองได้เช่นกัน
กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว
ดอกเบี้ย 15%-25% ต่อปี
*กรุณาศึกษาข้อมูลผลิตภัณฑ์ก่อนการสมัครที่ promise.co.th
*เงื่อนไขเป็นไปตามที่บริษัทฯ และธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด