เทคนิคปลดหนี้เงินกู้ แถมมีเงินเก็บ เหลือเงินออมทุกเดือน

29/02/2567
การเงิน-ธุรกิจ

เทคนิคปลดหนี้

 

“การไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ” เป็นคำพูดอมตะที่ไม่ว่ากาลเวลาเปลี่ยนแปลงไปนานขนาดไหนก็ยังใช้ได้อยู่เสมอแน่นอนว่าไม่มีใครอยากเป็นหนี้ แต่บ่อยครั้งก็มีเหตุจำเป็นที่จะต้องใช้เงินอย่างที่เราไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน ทำให้เกิดเหตุต้องกู้เงินเป็นหนี้เป็นสินอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ หลาย ๆ คนเมื่อกู้เงินเป็นหนี้มาแล้วก็มักประสบปัญหาว่า ได้เงินเดือนมาเท่าไหร่ ก็ต้องเอาไปชำระหนี้เงินกู้จนแทบไม่เหลือเงินไว้เก็บออมเลย ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะมีแนวคิดที่ว่าใช้หนี้ให้เร็วที่สุดก็คือมีเงินเท่าไหร่ก็เอาไปโปะให้หมด ยิ่งหมดเร็วยิ่งดี แต่เดี๋ยวก่อน… ถ้าวันหนึ่งเกิดป่วยขึ้นมาจะต้องใช้เงินแบบเร่งด่วน จะหากู้หนี้ยืมสินมาอีกก็จะเป็นการเพิ่มภาระเข้าไปอีก

นอกจากนี้ ช่วงที่ได้เงินโบนัสก้อนโตมา คำถามที่คนส่วนใหญ่คิดคือ จะเอาไปใช้หนี้เงินกู้ให้มากที่สุดจะได้ช่วยลดภาระดอกเบี้ย หรือจะออมเงินไว้เพื่อสำรองค่าใช้จ่าย ฟังดูจะทางไหนก็ดูโอเคทั้งนั้น แต่แน่นอนว่าเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต เราจึงควรใช้หนี้ควบคู่ไปกับการออมเงินจะดีกว่า เพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยง เผื่อเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันในอนาคต

 

เทคนิคปลดหนี้

วิธีบริหารหนี้ ให้มีเงินเก็บแบบง่าย ๆ

วันนี้สินเชื่อส่วนบุคคลพรอมิสจะมาแนะนำเทคนิคการบริหารหนี้ ให้มีเงินเก็บแบบง่าย ๆ มาดูกันเลย

1. ทำบัญชีรายรับรายจ่าย

อันดับแรกเริ่มจากการทำบัญชีรายรับรายจ่าย เพราะหากไม่ทำบัญชีรายรับรายจ่าย เราจะไม่ทราบเลยว่ารูรั่วของเรา หรือสิ่งที่ทำให้เราไม่มีเงินเก็บมันอยู่ตรงไหน 

2. แบ่งเงินไว้เป็นหมวดหมู่

โดยแบ่งเงินเป็น 6 กอง ดังต่อไปนี้

2.1 เงินเก็บ คือ เงินที่เก็บไว้เพื่ออนาคต และเป็นเงินสำรองไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน (เป้าหมายควรเก็บให้พออยู่ได้อย่างน้อย 6 เดือน ในกรณีที่ไม่มีรายได้เข้ามาเลย) เงินส่วนนี้สำคัญมากสำหรับการวางแผนการเงิน โดยเงินนี้เมื่อสะสมถึงเป้าหมายแล้ว ส่วนเกินจากนี้สามารถแบ่งเป็นกองใหม่นำไปลงทุนเพื่อการเกษียณในอนาคตได้อีกด้วย

2.2 เงินจำเป็น คือ เงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน (ไม่ใช่การใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น ค่าชอปปิง, ค่ากินอาหารนอกบ้าน)

2.3 เงินปลดหนี้ คือ เงินที่เอาไว้จ่ายหนี้เงินกู้

2.4 เงินรางวัล คือ เงินที่ไว้ให้ใช้จ่ายอะไรก็ได้ เช่น ชอปปิง, กินอาหารหรู ๆ นอกบ้าน แน่นอนว่าการใช้จ่ายเหล่านี้ไม่จำเป็น แต่คนเราก็จะมีความต้องการใช้จ่ายสิ่งเหล่านี้เพื่อความสุขอยู่เสมอ เราจึงควรแบ่งบางส่วนไว้ใช้จ่ายกับสิ่งเหล่านี้ ซึ่งเราสามารถสะสมหลาย ๆ เดือนให้กลายเป็นเงินก้อนใหญ่ เพื่อใช้ซื้อของที่ราคาสูงได้อีกด้วย ส่วนนี้ควรเป็นเพียงไม่เกิน 5% ของรายได้ เพื่อให้เรานำเงินไปใช้กับสิ่งจำเป็นมากกว่า

2.5 เงินพัฒนา คือ เงินที่ใช้พัฒนาตัวเอง เพื่อให้มีรายได้มากขึ้นในอนาคต เช่น ซื้อหนังสือดี ๆ, ลงคอร์สเรียน

2.6 เงินให้ คือ มีคนรวยจำนวนมากรวมถึงหนังสือพัฒนาตัวเองหลาย ๆ เล่ม เชื่อว่า “การให้” สุดท้ายแล้วจะทำให้เราได้รับกลับมามากกว่าเดิม แต่คนที่มีน้อยก็จะบอกว่า “รอให้รวยก่อนค่อยให้” ซึ่งการทำแบบนี้ สุดท้ายก็จะไม่ได้ให้สักที หากเราเชื่อแบบที่คนรวยเหล่านี้เชื่อ เราก็ควรเริ่มให้ตั้งแต่มีน้อย เพื่อสร้างจุดเริ่มต้น ที่จะทำให้เราค่อย ๆ เติบโตไปเป็นคนรวยที่สามารถให้ผู้อื่นได้มากขึ้น สัดส่วนตรงนี้ก็ไม่จำเป็นต้องเยอะ เพียงไม่เกิน 5% ของรายได้ ปริมาณไม่สำคัญเท่าใจที่อยากจะทำนะจ๊ะ

การแบ่งเงินในลักษณะนี้เป็นการวางแผนทางการเงินที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก ซึ่งหลาย ๆ ที่อาจจะมีการจัดหัวข้อและสัดส่วนต่างกันออกไป แต่โดยรวมแล้วจะเป็นการวางแผนการเงินโดยแบ่งเงินหลาย ๆ กอง และจัดสัดส่วนตามความสำคัญและความจำเป็น หนังสือที่มีชื่อเสียงที่ใช้การวางแผนการเงินในลักษณะนี้คือ หนังสือ “ถอดรหัสลับสมองเงินล้าน” โดย T.Harv Eker

สังเกตว่าเงินเก็บจะอยู่ข้อแรก หมายความว่า เราต้องเก็บเงินให้ตัวเองก่อน ค่อยเอาไปทำอย่างอื่น ดังนั้นเป้าหมายนี้สำคัญที่สุด

จากนั้นลองแบ่งสัดส่วนของเงินในหมวดหมู่ต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับตัวเราเอง แน่นอนว่าบางอย่างมันมีขั้นต่ำที่เราต้องจ่ายอยู่แล้ว เช่น เงินจำเป็น และ เงินปลดหนี้ ในส่วนนี้หากอยากปลดหนี้ให้ไวก็ต้องให้น้ำหนักกับเงินตรงนี้มากหน่อย ซึ่งก็ต้องตั้งเป้าว่าจะปลดหนี้ในกี่เดือนในแบบที่เป็นไปได้

ในส่วนของเงินเก็บ ให้วางเป้าที่จะเก็บให้ได้ จากนั้นวางแผนว่าจะเก็บเท่าไหร่ต่อเดือนและใช้เวลากี่เดือนจึงจะถึงเป้าในส่วนอื่น ๆ ก็ปรับให้ได้ตามความเหมาะสม

3. ลงมือเก็บเงินอย่างจริงจัง

เมื่อวางแผนการเงินเสร็จแล้ว ที่เหลือก็คือ ลงมือทำ !! สุดท้ายนี้จะบอกว่า ข้อนี้แหละยากที่สุด นั่นคือการมีวินัย หากวางแผนมาดีเท่าไหร่ แต่ทำตามไม่ได้ ย่อมไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ การทำตามแผนให้ได้ทุกเดือน ยืนระยะให้ได้ยาว ๆ จึงจะสามารถนำพาเราไปสู่เป้าหมายได้

สรุปบทความ

สุดท้ายนี้สินเชื่อส่วนบุคคลพรอมิส ขอให้ทุกคนสร้างวินัย วางแผนการเงินและปลดหนี้ให้ได้ดั่งใจหวัง แต่ถ้าต้องการเงินฉุกเฉินเมื่อใดให้นึกถึงเรา สินเชื่อส่วนบุคคลพรอมิส นะจ๊ะ

กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว
ดอกเบี้ย 15%-25% ต่อปี
*กรุณาศึกษาข้อมูลผลิตภัณฑ์ก่อนการสมัครที่ promise.co.th
*เงื่อนไขเป็นไปตามที่บริษัทฯ และธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
 

Tags: ปลดหนี้ การบริหารหนี้

พร้อมรู้กับพรอมิส