“ติดแบล็กลิสต์บูโร” คำนี้ไม่มีอยู่จริง ทำไม?
“เครดิตบูโร” เป็นใคร ทำไมถึงได้มีอิทธิพลกับการขอกู้เงิน กู้สินเชื่อ หรือทำธุรกรรมการเงินเกือบทุกประเภท แล้วทำไมคำว่า “ติดแบล็กลิสต์บูโร” ถึงไม่มีอยู่จริง ในวันนี้สินเชื่อส่วนบุคคลพรอมิสจะมาไขข้อข้องใจและความเชื่อผิดๆ ที่คนกู้เงินมักมองว่า “เครดิตบูโร” คือศัตรูของการกู้เงิน โดยบทความนี้ได้อ้างอิงมาจากบทสัมภาษณ์ของคุณสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ในรายการ The Money Case by The Money Coach EP.7 และ EP.8 กับหัวข้อที่มีชื่อว่า “เครดิตบูโร: รู้จักและเข้าใจกับหน่วยงานที่คนเคยกู้คุ้นหูแต่มักไม่รู้จริง” และ “เครดิตบูโร Q&A: แบล็กลิสต์มีจริงไหม? เบี้ยวหนี้แบบไหนมีผลมากกว่ากัน?”
เครดิตบูโรคือใคร?
คือบริษัทที่เก็บข้อมูลเครดิตการทำธุรกรรมกู้เงินของเรา ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลที่เราไปกู้สินเชื่อเงินด่วนหรือสินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ หรือสินเชื่อการเกษตร เพื่อเก็บเป็นข้อมูลที่เปรียบเสมือนสมุดบันทึกพฤติกรรมการชำระหนี้ของเรา และข้อมูลนี้ทางธนาคารหรือสถาบันการเงินที่ปล่อยเงินกู้จะต้องทราบเพื่อดูว่าพฤติกรรมการชำระหนี้ของเราเป็นอย่างไร โดยสืบค้นข้อมูลเครดิตของเราผ่านบริการของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ซึ่งทางธนาคารและสถาบันการเงินจะต้องมีหนังสือขอความยินยอมให้เปิดเผยข้อมูลเครดิตเพื่อให้เงินกู้กับผู้กู้แยกออกมากับใบสมัครสินเชื่อหรือเงินกู้ต่างๆ เมื่อเราเซ็นชื่อ ก็แปลว่าเรายินยอมให้บริษัทข้อมูลเครดิตเปิดเผยข้อมูลเครดิตของเรากับธนาคารหรือสถาบันการเงินที่เราไปขอกู้นั่นเอง
ทำไมเครดิตบูโรถึงมีอิทธิพลกับการกู้เงินของเรา?
หลักการพื้นฐานซึ่งเปรียบเสมือนความเป็นมาของการมีอยู่ของบริษัทข้อมูลเครดิตก็คือ เพื่อเป็นการปกป้องเงินฝากของลูกค้า เนื่องจากเงินกู้ที่ธนาคารเอามาปล่อยกู้นั้นมาจากเงินฝากของลูกค้าคนอื่นๆ และลูกค้าเหล่านั้นก็หวังว่าฝากเงิน 100 บาท เงินก็จะไม่ลดหายไปไหน ถอนออกมาก็จะยังคงมี 100 บาทเท่าเดิม ดังนั้น เพื่อเป็นการปกป้องเงินฝากของลูกค้าคนอื่นๆ ก่อนที่ธนาคารหรือสถาบันการเงินจะปล่อยเงินกู้ จึงต้องดูพฤติกรรมการชำระหนี้ของผู้กู้เพื่อมั่นใจว่าเขาจะชำระหนี้คืนได้ ไม่เบี้ยวหนี้ แต่หลายๆ คนกลับมองว่าเครดิตบูโรคืออุปสรรคที่ขัดขวางการกู้เงินทำให้ไม่สามารถกู้เงินด่วนหรือกู้สินเชื่อต่างๆ ได้ดั่งใจ ถ้าอย่างนั้นก็คงต้องถามย้อนกลับไปว่า แล้วทำไมทางธนาคารหรือสถาบันการเงินถึงไม่ปล่อยกู้ให้ ถ้าหากเครดิตเราดีจริงๆ
แบบไหนถึงจะเรียกว่าเครดิตดี?
ต้องเท้าความก่อนว่า เมื่อเราได้รับการอนุมัติเงินกู้ใดๆ ก็ตามจากสถาบันการเงิน สถาบันการเงินเหล่านั้นจะต้องส่งข้อมูลว่าเราได้มีการทำธุรกรรมกู้เงินแล้วเรียบร้อยให้กับบริษัทข้อมูลเครดิต โดยที่ข้อมูลเครดิตของเราจะปรากฎบนระบบสูงสุด 3 ปี (36 เดือน) ย้อนหลังเรียงกันเป็นชั้น เมื่อข้อมูลเดือนที่ 37 เข้ามา ข้อมูลของเดือนที่ 1 ก็จะออกไป ข้อมูลเดือนที่ 38 เข้ามา ข้อมูลเดือนที่ 2 ก็จะออกไป ใหม่มาเก่าไปนั่นเอง
เมื่อธนาคารหรือสถาบันการเงินได้รับข้อมูลเครดิตของเราปุ๊บ ก็จะต้องเช็กชื่อของเราว่าสะกดถูกหรือไม่ คำนำหน้านาง/นาย/นางสาว วันเดือนปีเกิด สถานะสมรส ซึ่งเป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อเช็กว่าข้อมูลนี้ถูกคนหรือไม่ จากนั้นก็จะมีขึ้นว่าเรามีการกู้เงินกับสถาบันการเงินต่างๆ รวมแล้วกี่บัญชี และแต่ละบัญชีก็จะขึ้นสถานะว่าปกติหรือไม่ ถ้าปกติแปลว่าปัจจุบันโอเค แล้วจากนั้นก็จะต้องดูไล่บรรทัดลงไปข้างล่างทุกบรรทัดทั้งหมด 34 บรรทัดที่เหลือ ซึ่งจะ “ต้องมี” คำว่า “ไม่ค้างชำระ” หากมีบรรทัดของเดือนใดเดือนหนึ่งที่มีคำว่า “ค้างชำระ” ก็แปลว่าเรา “เคยค้างชำระ” แม้ว่าปัจจุบันเราจะจ่ายครบทั้งหมดแล้ว แต่หากมีอยู่เดือนหนึ่งที่เราเคยค้างชำระ ก็แปลว่าในอดีตเราเคยมีประวัติค้างชำระ ซึ่งคำว่า “ค้างชำระ” นั้นก็จะติดอยู่ในประวัติเครดิตของเราจนกว่าข้อมูลเดือนใหม่จะเข้ามาทับจนข้อมูลเก่ามันออกไป ซึ่งต้องใช้เวลากว่า 3 ปี (36 เดือน) ในการจ่ายดีจ่ายครบเพื่อทำให้คำว่า “ค้างชำระ” ถูกข้อมูลใหม่ๆ ขึ้นมาทับจนออกจากระบบไปเอง
สมมติยกตัวอย่างง่ายๆ เราเอาใบเกรดไปยื่นเพื่อสมัครงาน แล้วในประวัติของเรามีเกรด A เต็มเลย แต่อยู่ๆ มีเกรด C โผล่มาตัวนึง คนดูเกรดของเราก็คงสงสัยอยากจะรู้ที่มาที่ไปว่าเกิดอะไรขึ้นถึงได้มีเกรด C มาติดอยู่ในประวัติได้ ซึ่งถ้าเราเคยมีเกรด C ติดมาครั้งหนึ่งแต่ที่เหลือเราเกรด A มาตลอดก็อาจจะสันนิษฐานได้ว่า ณ เวลานั้นอาจมีเรื่องอะไรเกิดขึ้นซึ่งเป็นเหตุสุดวิสัย แต่ไม่ใช่นิสัยที่แท้จริงของเรานั่นเอง
คำว่า “ติดแบล็กลิสต์บูโร” คือคำที่ถูกกุขึ้นมาเพื่อให้คนกลัวจริงหรือ?
จริง เนื่องจากคำว่า “แบล็กลิสต์” หากเสิร์ชกูเกิลและไปที่พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานเพื่อหาความหมายจริงๆ ของมัน คำว่า “แบล็กลิสต์” จะใช้กับกรณีพวกอาชญากรรมค้ามนุษย์ ซึ่งไม่เกี่ยวกับกรณีกู้เงินแล้วค้างชำระเงินกู้ สินเชื่อ หรือเงินด่วนต่างๆ เลยสักนิด อีกทั้งการเก็บข้อมูลของเครดิตบูโรมีทั้งข้อมูลด้านบวกและลบ ถ้าเราจ่ายดีจ่ายครบก็แปลว่าไม่ค้างชำระ แต่ถ้าเราเคยไม่จ่าย เบี้ยวหนี้ ก็แปลว่าเราเคยค้างชำระ ซึ่งบริษัทข้อมูลเครดิตบูโรมีหน้าที่แค่เก็บประวัติเครดิตตามจริงของเราเท่านั้น ไม่ได้มีหน้าที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการกู้เงินของใครแต่อย่างใด เพราะมันเป็นแค่การบันทึกว่าในอดีตเราเคยทำพฤติกรรมการชำระหนี้แบบใดมาก็เท่านั้นเอง
ทำไมเราถึงไม่สามารถดูข้อมูลเครดิตของตัวเองได้ง่ายๆ ทำไมมันถึงยุ่งยาก?
บนโลกใบนี้มีข้อมูล 2 อย่างที่เป็นความลับ คือ 1. ข้อมูลทางการแพทย์ และ 2. ข้อมูลทางการเงิน และบนโลกใบนี้ก็มีอยู่แค่สองคนเท่านั้นที่จะสามารถเห็นข้อมูลเครดิตของเราได้ คือ 1. ตัวเราเอง (ไม่รวมคู่สมรส) และ 2. คนที่เราไปขอกู้ เนื่องจากเขาต้องดูประวัติทางการเงินของเราเพื่อปล่อยเงินกู้ แต่ถ้าหากเขานำข้อมูลเครดิตของเราไปปล่อยให้บุคคลอื่นดู ถือว่ามีความผิดทางอาญาสามารถเอาผิดได้ และไม่ว่าจะเป็นสามีภรรยากัน หากภรรยาจะไปขอดูข้อมูลเครดิตของสามีก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากข้อมูลเครดิตถือเป็นข้อมูลส่วนบุคคล หากภรรยาบังคับดูหรือแอบไปดูข้อมูลเครดิตของสามี สามีสามารถเอาผิดภรรยาได้ในทางกฎหมาย ส่วนใครที่อยากรู้ว่าจะสามารถเช็กข้อมูลเครดิตของตัวเองได้ที่ไหนบ้าง ก็เข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์ของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ และสามารถติดตามข่าวสารว่าจะมีกิจกรรมตรวจข้อมูลเครดิตฟรีที่ไหนบ้างผ่านเว็บไซต์ได้เช่นกัน
บทสรุป
บริษัทข้อมูลเครดิตมีหน้าที่แค่เก็บประวัติการชำระหนี้ของเราเท่านั้น และคำว่า “ติดแบล็กลิสต์บูโร” ไม่มีอยู่จริง จะมีแค่คำว่า “ปกติ” “ค้างชำระ” “ไม่ค้างชำระ” เพียงเท่านั้น ดังนั้น เครดิตบูโรไม่ได้เป็นศัตรูของการกู้เงิน แต่เป็นพฤติกรรมการชำระหนี้ของตัวเราเองต่างหากที่จะกลายมาเป็นมิตรแท้หรือศัตรูในยามที่เราต้องการกู้เงิน ดังนั้น เราควรกู้แต่พอดีและชำระคืนไหว ส่วนใครที่กำลังมองหาเงินด่วนสมัครง่ายอนุมัติไวใน 1 ชั่วโมง* ก็สมัครพรอมิสเลย มีแอปพลิเคชันแล้วด้วยนะ
กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว
ดอกเบี้ย 15%-25% ต่อปี
*กรุณาศึกษาข้อมูลผลิตภัณฑ์ก่อนการสมัครที่ promise.co.th
*เงื่อนไขเป็นไปตามที่บริษัทฯ และธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
*หากยื่นเอกสารครบถ้วนภายใน 18:00 น. และไม่มีเหตุขัดข้องด้านเอกสาร หรือระบบ จะสามารถอนุมัติได้ภายใน 1 ชั่วโมง หรือภายในวันถัดไป