คิดก่อนเซ็น เป็นผู้ค้ำประกันมีสิทธิ์อะไร
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราอาจจะได้ยินข่าวว่า “ลูกหนี้ไม่ยอมชำระหนี้และปล่อยให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้แทน” กันอยู่บ่อยครั้ง ทำให้หลาย ๆ คนเริ่มเกิดความกังวลเมื่อจำเป็นจะต้องเซ็นเป็นผู้ค้ำประกันให้กับคนอื่น เพราะกลัวว่าจะเป็นหนี้แบบไม่ทันตั้งตัว ดังนั้นในบทความนี้เราจะพาคุณมาทำความรู้จักว่า การเป็นผู้ค้ำประกันคืออะไร ทำไมถึงมีความเสี่ยงสูง
ผู้ค้ำประกันคือใคร
การค้ำประกัน หมายถึง การประกันในการชำระหนี้ เมื่อลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ อันเกิดจากการล้มละลาย หรือหนีหนี้ ซึ่งการค้ำประกันสามารถทำได้ทั้งการเซ็นเป็นผู้ค้ำประกัน และนำทรัพย์สินมาค้ำประกัน ในกรณีที่นำสินทรัพย์มาค้ำประกัน และธนาคารเล็งเห็นว่าลูกหนี้ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ ธนาคารจะยึดสินทรัพย์ที่นำมาค้ำประกันไว้ในทันที
แต่หากเป็นการนำบุคคลมาเซ็นเป็นผู้ค้ำประกัน บุคคลนั้นจะต้องทำการชำระหนี้ทั้งหมดแทนลูกหนี้ เนื่องจากในทางกฎหมายระบุว่า ผู้ค้ำประกัน หมายถึง บุคคลหนึ่งที่ยอมรับที่จะชำระหนี้แทนอีกบุคคล หากบุคคลนั้นไม่ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้
คุณสมบัติที่สามารถเป็นผู้ค้ำประกัน
ในการเซ็นเป็นผู้ค้ำประกัน ไม่ใช่ว่าใครก็จะสามารถแสดงความจำนงต้องการเป็นคนค้ำประกันให้กับลูกหนี้ได้ โดยสถาบันการเงินจะมีการวิเคราะห์คุณสมบัติของผู้ค้ำประกัน เพื่อให้ธนาคารมั่นใจว่า ผู้ค้ำประกันมีศักยภาพมากพอที่จะชำระหนี้แทนได้ ซึ่งบุคคลที่จะมาเป็นผู้ค้ำประกัน สามารถเป็นได้ทั้งเพื่อน ญาติ และพี่น้อง แต่โดยทั่วไปมักจะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
- มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และต้องอายุไม่เกิน 65 ปี
- มีรายได้ในการประกอบอาชีพที่มั่นคง
- มีที่อยู่ที่สามารถติดต่อได้
- ไม่มีประวัติการเงินและเครดิตเสียในข้อมูลเครดิตบูโร
ทั้งนี้ คุณสมบัติเหล่านี้อาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับบริษัทสินเชื่อ หรือสถาบันการเงินแต่ละที่กำหนด ดังนั้นจึงควรสอบถามเงื่อนไขกับสถาบันการเงินที่ขอสินเชื่อก่อนทุกครั้ง
ผู้ค้ำประกันมีสิทธิ์คุ้มครองทางกฎหมายอะไรบ้าง
ปัจจุบัน ในกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีการบัญญัติความคุ้มครองให้กับผู้ค้ำประกัน เพื่อให้ความเป็นธรรมและปกป้องผู้ค้ำประกันที่ได้รับผลกระทบจากการหาเงินหรือนำสินทรัพย์มาชำระหนี้แทน โดยจะมีทั้งหมด 2 มาตรา ดังนี้
- “มาตรา 688 เมื่อเจ้าหนี้ทวงให้ผู้ค้ำประกันชําระหนี้ ผู้ค้ำประกันจะขอให้เรียกลูกหนี้ชําระก่อนก็ได้ เว้นแต่ลูกหนี้จะถูกศาลพิพากษาให้เป็นคนล้มละลายเสียแล้ว หรือไม่ปรากฏว่าลูกหนี้ไปอยู่แห่งใดในพระราชอาณาเขต”
- “มาตรา 689 ถึงแม้จะได้เรียกให้ลูกหนี้ชําระหนี้ดังกล่าวมาในมาตราก่อนนั้นแล้วก็ตาม ถ้าผู้ค้ำประกันพิสูจน์ได้ว่าลูกหนี้นั้นมีทางที่จะชําระหนี้ได้ และการที่จะบังคับให้ลูกหนี้ชําระหนี้นั้นจะไม่เป็นการยากไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้จะต้องบังคับการชําระหนี้รายนั้นเอาจากทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อน”
นอกจากนี้ยังมี “กฎหมายค้ำประกันฉบับปรับปรุงใหม่ 2558” ที่มีการเปลี่ยนแปลงในส่วนของผู้ค้ำประกันที่แตกต่างไปจากกฎหมายฉบับเก่า ดังนี้
สามารถจำกัดวงเงินก่อนเซ็นค้ำประกันได้
ผู้ค้ำประกันสามารถจำกัดวงเงินและระยะเวลาในการค้ำประกันได้ โดยในก่อนที่จะตัดสินใจเซ็นค้ำประกัน ควรจะตกลงกับลูกหนี้เพื่อกำหนดเพดานชำระหนี้ให้ดี และเซ็นสัญญากันเป็นลายลักษณ์อักษร
ผู้ค้ำประกันรับผิดชอบในส่วนของตนเท่านั้น
ผู้ค้ำประกันจะไม่ต้องรับผิดชอบหนี้ทั้งหมดเหมือนกับลูกหนี้ทุกประการอีกต่อไป แต่จะรับผิดชอบเฉพาะในส่วนของตนเท่านั้นคือ ไม่ต้องรับผิดชอบดอกเบี้ย และหลังจากที่ผู้ค้ำประกันชำระหนี้แทนลูกหนี้แล้ว สามารถใช้สิทธิ์ฟ้องลูกหนี้เพื่อเรียกเงินตามจำนวนที่ชำระไปพร้อมดอกเบี้ยและค่าเสียหายอื่น ๆ ได้
เจ้าหนี้ต้องทำหนังสือแจ้งผู้ค้ำประกันล่วงหน้า 60 วัน
ในกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ เจ้าหนี้จะต้องทำหนังสือแจ้งผู้ค้ำประกันให้ทราบล่วงหน้าภายใน 60 วัน และห้ามไม่ให้เจ้าหนี้เรียกเอาหนี้กับผู้ค้ำประกันในทันที จนกว่าจะพยายามเรียกหนี้กับลูกหนี้จนสุดความสามารถแล้ว
สรุปบทความ
การเซ็นเป็นผู้ค้ำประกัน นับว่าเป็นความเสี่ยงที่ผู้ค้ำประกันจะต้องแบกรับ ดังนั้นก่อนที่จะตัดสินใจเซ็นค้ำประกันก็ควรจะศึกษาข้อกฎหมาย และตกลงกับลูกหนี้ให้ดีเสียก่อน รวมถึงต้องมีการเซ็นสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรให้ชัดเจน
สำหรับคนที่ต้องการขอสินเชื่อ และไม่อยากไปรบกวนบุคคลอื่นมาเป็นผู้ค้ำประกัน สามารถขอสินเชื่อส่วนบุคคลกับ PROMISE ได้ เพราะเราเปิดโอกาสให้คุณขอสินเชื่อได้โดยไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน นอกจากนี้ยังกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 15-25% ต่อปี
กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว
ดอกเบี้ย 15%-25% ต่อปี
*กรุณาศึกษาข้อมูลผลิตภัณฑ์ก่อนการสมัครที่ promise.co.th
*เงื่อนไขเป็นไปตามที่บริษัทฯ และธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด