กู้เงินไม่ผ่าน? มาดู 8 เหตุผลพร้อมวิธีแก้ไข
การกู้เงินถือเป็นสิ่งที่หลายๆ คนต้องเคยประสบพบเจอมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการกู้บ้าน กู้รถ กู้สินเชื่อส่วนบุคคล ทำบัตรเครดิต ต่างๆ นานา ถือเป็นธุรกรรมการเงินที่มีโอกาสจะไม่ได้รับการอนุมัติหากมีปัจจัยบางอย่างที่ไม่เข้าเกณฑ์ของผู้ปล่อยกู้ และหลายๆ ครั้งก็ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนจากสถาบันการเงินว่าเพราะอะไรถึงไม่อนุมัติเงินกู้ บทความนี้สินเชื่อพรอมิสจะมาช่วยลิสต์เหตุผลเพื่อให้คุณได้อ่านและลองเช็กว่าคุณตรงกับข้อไหน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด ถ้าพร้อมแล้วก็ไปอ่านกันเลย
1. เงินเดือนไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด
โลกของการกู้เงินในสมัยนี้เปิดกว้างและหลากหลาย เกณฑ์เงินเดือนของผู้ขอกู้ก็ต่ำสูงไม่เท่ากันตามแต่ละสถาบันการเงิน ซึ่งถ้าหากคุณเงินเดือนต่ำกว่าเกณฑ์ของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ก็มีโอกาสสูงที่ผู้ปล่อยกู้จะไม่อนุมัติ ยกตัวอย่างเช่น การสมัครบัตรเครดิต ซึ่งคุณสามารถค้นหาว่าบัตรเครดิตตัวที่คุณต้องการ ได้กำหนดเงินเดือนขั้นต่ำของผู้สมัครอยู่ที่เท่าไหร่ ซึ่งส่วนใหญ่จะเริ่มต้นที่เงินเดือน 15,000 บาท และเกณฑ์เงินเดือนอาจสูงขึ้นตามสิทธิประโยชน์ของบัตรเครดิตนั้นๆ หากคุณเป็นคนหนึ่งที่สมัครบัตรเครดิตไม่ผ่านเพราะเงินเดือนไม่ถึงเกณฑ์ ลองสมัครสินเชื่อส่วนบุคคลหรือบัตรกดเงินสดที่มีเกณฑ์เงินเดือนต่ำกว่า 15,000 บาทได้เช่นกัน
2. เอกสารมีปัญหาหรือเอกสารไม่ครบ
วิธีสมัครกู้เงินให้มีโอกาสผ่านจะเกี่ยวข้องกับเรื่องเอกสารค่อนข้างมาก โดยสินเชื่อพรอมิสจะขอแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ
กรณีเอกสารมีปัญหา
เช่น บัตรประชาชนหมดอายุ สลิปเงินเดือนเอาของที่ผ่านมาหลายเดือนแล้วมาใช้ หรือลาออกจากที่ทำงานเก่าไปแล้วเอาสลิปเงินเดือนของที่ทำงานเก่ามาใช้ ซึ่งคุณอาจจะลืมตัว ไม่ได้ตั้งใจ แต่เนื่องจากผิดหลักเกณฑ์ของทางสถาบันการเงิน ดังนั้นก็ทำให้การกู้เงิน กู้บ้าน หรือกู้รถของคุณมีโอกาสไม่อนุมัติได้ สิ่งนี้แก้ได้โดยการทำบัตรประชาชนใหม่ และใช้สลิปเงินเดือนหรือเอกสารที่เป็นปัจจุบัน
กรณีเอกสารไม่ครบ
เช่น เอามาแค่บัตรประชาชนแต่ลืมเอาสลิปเงินเดือนมา หรือทางสถาบันการเงินขอ Statement (รายการการเดินบัญชีย้อนหลัง) ขอ 6 เดือนย้อนหลัง แต่ส่งให้ทางสถาบันแค่ถึง 3 เดือนย้อนหลัง แบบนี้ถือว่าเอกสารไม่ครบ หากผลิตภัณฑ์การเงินที่คุณจะสมัครต้องใช้เอกสารอะไร แนะนำว่าควรเตรียมให้ครบและอาจนำเอกสารบางอย่างไปเผื่อ ปัญหาด้านเอกสารจะทำให้คุณได้รับการอนุมัติช้าลงเพราะข้อมูลตรวจสอบไม่เพียงพอต่อเจ้าหน้าที่ หรืออาจทำให้คุณไม่ได้รับการอนุมัติเงินกู้เลยก็ได้เช่นกัน
3. มีหนี้สินหลายที่ หรือมีของที่ผ่อนเยอะ
หนี้บ้าน หนี้รถ หนี้ผ่อนบัตรเครดิต หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล ฯลฯ ทุกอย่างล้วนอยู่ในหมวดการเป็นหนี้ ซึ่งทางสถาบันการเงินสามารถตรวจสอบได้ว่าปัจจุบันคุณมีหนี้สินอยู่กี่บัญชี โดยตรวจสอบผ่านบริการของบริษัทเครดิตบูโร สมมติคุณผ่อนบัตรเครดิต 1 ใบ และกู้สินเชื่อ 1 ที่ ในระบบจะขึ้นว่าคุณมีหนี้สินอยู่ 2 บัญชี ซึ่งยิ่งจำนวนบัญชีหนี้สินของคุณมีเยอะ ทางสถาบันการเงินจะมองว่าคุณมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างรัดตัว จะทำให้การปล่อยกู้เงินต่างๆ นั้นเป็นไปได้ยากมากขึ้น หากคุณเข้าข่ายข้อนี้ วิธีสมัครกู้เงินให้มีโอกาสผ่านคือ คุณควรเคลียร์หนี้สินที่ผ่อนอยู่ให้หมดก่อนจะทำธุรกรรมการกู้เงินครั้งใหม่ จะช่วยให้หนี้สินไม่รัดตัวมากจนเกินไป และโอกาสอนุมัติเงินกู้ก็สูงขึ้นด้วย
4. มีประวัติค้างชำระในข้อมูลเครดิตบูโร
สมมติว่าเพื่อนยืมเงินคุณหลักหมื่นหลักแสน แล้วเบี้ยวหนี้ คุณก็คงไม่ชอบหรอกใช่ไหม แล้วถ้าเพื่อนคนนั้นมาขอยืมเงินคุณอีกทั้งๆ ที่ยังไม่คืนหนี้ก้อนเก่า คุณจะยังอยากให้ยืมอยู่ไหม และนั่นเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมคนชอบเบี้ยวหนี้ถึงสมัครกู้เงินผ่านยาก เพราะในประวัติข้อมูลเครดิตของเขามีคำว่า “ค้างชำระ” ติดอยู่
แต่คุณรู้หรือไม่ จริงๆ แล้วคำว่าติดแบล็กลิสต์บูโร หรือติดเครดิตบูโรนั้น ไม่มีอยู่จริง เวลาที่สถาบันการเงินเช็กเครดิตของเราผ่านบริการของบริษัทข้อมูลเครดิต ในระบบจะมีแค่คำว่า “ปกติ” “ค้างชำระ” “ไม่ค้างชำระ” เท่านั้น ซึ่งคำว่า “ค้างชำระ” หากมีอยู่ในประวัติเครดิตของคุณ ก็แปลว่าคุณเคยทำพฤติกรรมเบี้ยวหนี้มาก่อน ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม หากผู้ปล่อยกู้ตรวจสอบแล้วพบว่าคุณ “ค้างชำระ” ทุกเดือนหรือหลายเดือน ก็อาจส่งผลให้ทางสถาบันการเงินไม่สามารถปล่อยเงินกู้ให้กับคุณได้ เนื่องจากสูญเสียความเชื่อมั่นในความสามารถการชำระหนี้ของคุณ แต่เรื่องนี้แก้ไขได้ โดยการกลับมาจ่ายครบจ่ายตรงทุกเดือน จ่ายจนกว่าสถานะ “ไม่ค้างชำระ” จะทับสถานะค้างชำระในระบบจนหายไป เป็นวิธีสมัครกู้เงินให้มีโอกาสผ่านที่ต้องใช้วินัยและความสม่ำเสมอ เพื่อพิสูจน์ให้สถาบันการเงินเห็นว่าคุณมีศักยภาพพอที่จะคืนหนี้สินนั่นเอง
5. เป็นบุคคลล้มละลาย
หากเป็นบุคคลที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว ไม่สามารถชำระหนี้หรือเงินกู้ได้อีกต่อไป เจ้าหนี้อาจฟ้องต่อศาลขอให้ล้มละลาย สถานะการเป็นบุคคลล้มละลายโดยปกติจะได้รับการปลดเมื่อกำหนดพ้นระยะเวลา 3 ปี แต่มีบางกรณีที่อาจส่งผลให้ระยะเวลาการปลดล้มละลายนั้นขยับเป็น 5 ปี หรือ 10 ปี ซึ่งการเป็นบุคคลล้มละลายจะส่งผลต่อการทำธุรกรรมการเงินทุกด้านในทางตรง ไม่ว่าจะเป็นการเปิดบัญชีธนาคาร การทำเรื่องขอกู้เงิน ฯลฯ หากคุณเข้าข่ายข้อนี้ วิธีสมัครกู้เงินให้มีโอกาสผ่านคือ ควรรอให้พ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลายเสียก่อน ถึงจะเริ่มขยับตัวทำธุรกรรมการเงินได้ สินเชื่อพรอมิสขอเป็นกำลังใจให้คุณฝ่าฟันอุปสรรคนี้ไปให้ได้ ฟ้าหลังฝนย่อมสดใสเสมอ
6. ทำเรื่องขอกู้เงินหรือสมัครบัตรเครดิตถี่เกินไป
ไม่ว่าคุณจะทำเรื่องกู้บ้าน กู้รถ กู้สินเชื่อ หรือแม้แต่การสมัครบัตรเครดิต ก็ล้วนต้องตรวจสอบข้อมูลเครดิตของคุณ ยิ่งคุณทำเรื่องขอกู้เงินจากหลายๆ แห่งในเวลาใกล้เคียงกันมากเท่าไหร่ คุณจะถูกตรวจสอบข้อมูลเครดิตบ่อยมากเท่านั้น และนั่นอาจทำให้สถาบันการเงินมองว่าคุณขอกู้เงินที่อื่นมาแล้วไม่ผ่าน จึงมาขอกู้เงินที่ใหม่ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะผ่าน แบบนี้ถือเป็นสิ่งที่ยิ่งทำยิ่งแย่ หากคุณเข้าข่ายข้อนี้ วิธีสมัครกู้เงินให้มีโอกาสผ่านคือ ให้เว้นระยะจากการทำเรื่องขอกู้เงินครั้งล่าสุดไปอย่างน้อย 6 เดือน แล้วค่อยทำเรื่องขอกู้เงินอีกครั้ง จะดีกว่าการขอกู้เงินถี่ๆ ซ้ำๆ
7. ขอวงเงินสูงมากเกินไป
การขอวงเงินกู้โดยเฉพาะกับสินเชื่อส่วนบุคคลที่สามารถให้คุณกรอกวงเงินที่ต้องการเองได้ ถือเป็นสิ่งที่สะดวกและมีความยืดหยุ่น แต่ไม่ได้หมายความว่าสถาบันการเงินจะต้องอนุมัติให้ตามจำนวนเงินที่คุณต้องการเสมอไป เพราะมีกฎของทางธนาคารแห่งประเทศไทยที่คอยกำกับดูแลการให้เงินกู้ยืมแก่ผู้ขอกู้ ซึ่งเงื่อนไขมีอยู่ว่า หากคุณเป็นผู้มีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 30,000 บาท ทางสถาบันการเงินสามารอนุมัติวงเงินกู้ได้สูงสุดอยู่ที่ไม่เกิน 1.5 เท่าของรายได้ กรณีที่คุณเป็นผู้มีรายได้ต่อเดือน 30,000 บาทขึ้นไป ทางสถาบันการเงินสามารถอนุมัติวงเงินกู้ได้สูงสุดไม่เกิน 5 เท่าของรายได้ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่างว่าจะได้ตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยหรือไม่ หากคุณขอวงเงินกู้ที่สูงกว่าเงินเดือนหลายเท่า ถ้าไม่ถูกลดวงเงินตอนอนุมัติ ก็อาจจะไม่ได้รับการอนุมัติเลยก็ได้
8. ฝ่ายบุคคลบริษัทของคุณไม่ได้รับสายโทรศัพท์ของสถาบันการเงิน
ข้อนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงมาแล้ว เวลาคุณสมัครขอกู้สินเชื่อหรือบัตรเครดิต แน่นอนว่าจะต้องกรอกข้อมูลที่ทำงานและเบอร์โทรศัพท์ที่ทำงาน ซึ่งข้อมูลนี้ทางสถาบันการเงินจะนำไปใช้เพื่อโทรศัพท์เช็กว่าคุณเป็นบุคคลที่ทำงานอยู่ในบริษัทตามที่คุณกรอกมาหรือไม่ แต่ประเด็นของข้อนี้อยู่ที่ ฝ่ายบุคคลบริษัทของคุณดันพลาดรับสายของสถาบันการเงินตอนที่โทรเช็ก อาจจะเพราะฝ่ายบุคคลติดประชุมอยู่ หรือกำลังพักกินข้าวกลางวัน ซึ่งบางครั้งเจ้าหน้าที่อาจไม่ได้โทรไปซ้ำ กรณีนี้ต้องโทรไปแจ้งฝ่ายบุคคลเพื่อให้สแตนด์บายรอรับสาย บางทีจังหวะไม่ดีจริงๆ โทรไปแจ้งล่วงหน้าแล้ว แต่พอสถาบันการเงินโทรไป ฝ่ายบุคคลดันลุกไปเข้าห้องน้ำก็มี ในกรณีนี้ ควรโทรศัพท์ประสานกับทางสถาบันการเงินและฝ่ายบุคคลเพื่อให้โทรในเวลาที่ฝ่ายบุคคลจะรับสายได้แน่นอน
สรุปบทความ
และนี่คือ 8 สาเหตุของการกู้เงินไม่ผ่าน ที่สินเชื่อพรอมิสได้ลองวิเคราะห์มาให้ทุกคนได้อ่านเพื่อนำไปแก้ไขปัญหาสมัครกู้เงินไม่ผ่าน บางข้ออาจแก้ได้รวดเร็ว แต่บางข้ออาจต้องใช้เวลาหลายปี แต่ไม่ว่าข้อไหน ทุกอย่างล้วนมีทางแก้ปัญหา ผลิตภัณฑ์การเงินที่ตอบโจทย์ชีวิตของคุณมีหลากหลายสิ่งให้เลือกสรร ตรวจสอบรายละเอียดเงื่อนไขและข้อกำหนดสัญญาก่อนการกู้เงินเพื่อประโยชน์ของตัวคุณเอง และที่สำคัญ กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว
กู้เงินกับสินเชื่อส่วนบุคคลพรอมิสได้แล้ววันนี้ทั้งทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชันบนระบบปฏิบัติการ iOS และ Android คลิกเลย!
- อนุมัติทันใจใน 1 ชั่วโมง*
- สมัครง่ายได้ทุกที่
- วงเงินสูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท*
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน : https://bitly.promise.co.th/blog2405_01
กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว
ดอกเบี้ย 15%-25% ต่อปี
*กรุณาศึกษาข้อมูลผลิตภัณฑ์ก่อนการสมัครที่ promise.co.th
*เงื่อนไขเป็นไปตามที่บริษัทฯ และธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
*หากยื่นเอกสารครบถ้วนภายใน 18:00 น. และไม่มีเหตุขัดข้องด้านเอกสาร หรือระบบ จะสามารถอนุมัติได้ภายใน 1 ชั่วโมง หรือภายในวันถัดไป