ไม่อยากตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ! ตรวจสอบแอปสินเชื่อก่อนกู้ต้องดูอะไรบ้าง
เตือนภัยเงินกู้ออนไลน์! เป็นที่รู้กันดีว่า ในปัจจุบันมีมิจฉาชีพแฝงตัวมาในหลายรูปแบบ ซึ่งหนึ่งในรูปแบบที่มักจะพบบ่อยก็คือ การแฝงตัวเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อ ที่เรียกได้ว่าเป็นการซ้ำเติมคนที่มีปัญหาเรื่องเงินอยู่แล้ว ให้ยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ โดยมิจฉาชีพในคราบแอปพลิเคชันให้บริการสินเชื่อเหล่านี้ มักจะหลอกล่อเหยื่อด้วยการใช้ประโยคเชิญชวนที่น่าสนใจ และตรงกับความต้องการของผู้ที่เดือดร้อนเรื่องเงินอยู่ในตอนนี้ ดังนั้น เพื่อไม่ให้คุณตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ การตรวจสอบแอปสินเชื่อก่อนกู้จึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างมาก
รวมวิธีป้องกันและตรวจสอบแอปสินเชื่อ ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ
เนื่องจากมิจฉาชีพในปัจจุบัน สามารถสร้างแอปพลิเคชันที่เหมือนหรือคล้ายคลึงกับธนาคาร หรือผู้ให้บริการสินเชื่อได้ ดังนั้นหากคุณกำลังมองหาแอปพลิเคชันที่ให้บริการสินเชื่อออนไลน์ แต่ไม่อยากถูกซ้ำเติมความเดือดร้อนเรื่องเงินจากการโดนมิจฉาชีพหลอก เรารวมวิธีป้องกันและตรวจสอบแอปสินเชื่อมาให้คุณแล้ว โดยมีจุดสังเกตทั้งหมด 6 จุด ดังนี้
1. ไม่โหลดแอปที่ไม่น่าเชื่อถือ
อย่างที่บอกไปว่า มิจฉาชีพสามารถสร้างแอปที่มีความเหมือนหรือคล้ายคลึงกับแอปของธนาคารออกมาได้ ดังนั้น ก่อนที่คุณจะตัดสินใจดาวน์โหลดควรจะมีการอ่านรายละเอียดก่อนติดตั้งให้ดีก่อน นอกจากนี้ยังสามารถเช็กได้จากรีวิวของผู้ใช้งานแอปนั้น ๆ ก็ได้เช่นกัน
2. ไม่โหลดแอปจากลิงก์ หรือข้อความทาง SMS หรือ อีเมล
อีกหนึ่งวิธีที่มิจฉาชีพใช้ในการหลอกลวงเงินก็คือ การส่งข้อความมาทาง SMS หรืออีเมล โดยมีข้อความที่ดึงดูดใจ เช่น เงินด่วนดอกเบี้ยถูก เงินด่วนไม่ต้องมีคนค้ำ ได้เงินเร็วใน 30 นาที เป็นต้น พร้อมกับแนบลิงก์ให้คุณคลิกเพื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน หากคุณเจอข้อความลักษณะนี้ห้ามคลิกลิงก์เด็ดขาด เพราะธนาคารหรือสถาบันการเงินส่วนใหญ่ จะไม่มีนโยบายเสนอสินเชื่อผ่านข้อความ และลิงก์นั้นอาจทำให้มิจฉาชีพเข้าถึงเงินในบัญชีของคุณได้อย่างง่ายดาย
3. ไม่โหลดแอปนอก Store ทางการ (เช่น Apple Store ,Google play)
เนื่องจากแอปที่อยู่นอก Store ทางการจะไม่ได้รับการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญ ไม่มีการบอกรายละเอียดของแอปนั้น ๆ รวมถึงไม่มีการสแกนมัลแวร์ที่อันตรายต่อข้อมูลของเรา ดังนั้น หากคุณถูกเชื้อเชิญให้โหลดแอปจากนอก Store ทางการอย่าง Apple Store หรือ Google Play ให้หยุดความคิดนั้นไว้ทันที
4. ไม่ใช้ Wi-Fi สาธารณะที่ไม่รู้จัก
การเชื่อมต่อ Wi-Fi สาธารณะที่ไม่รู้จัก จะทำให้ข้อมูลต่าง ๆ ของคุณมีความเสี่ยงที่มิจฉาชีพจะเข้าถึงได้ง่าย เพราะเมื่อคุณเชื่อมต่อโทรศัพท์มือถือกับเครือข่าย Wi-Fi นั่นหมายความว่า คุณกำลังส่งข้อมูลส่วนตัวของคุณผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันมือถือ ซึ่งจะทำให้แฮกเกอร์หรือมิจฉาชีพสามารถเจาะระบบเพื่อเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นได้
5. ระวังการกรอกข้อมูลสำคัญ
การสมัครสินเชื่อผ่านแอปกู้เงินถูกกฎหมาย จะมีการขอเอกสารข้อมูลยืนยันตัวตน เช่น บัตรประชาชน และเอกสารข้อมูลแสดงรายได้ เช่น สลิปเงินเดือน หรือหนังสือรับรองเงินเดือน เป็นต้น ส่วนเอกสารการเดินบัญชีหรือ Statement จะขึ้นอยู่กับสถาบันการเงินว่าต้องใช้ประกอบการพิจารณาหรือไม่ โดยผู้ขอสินเชื่อควรเซ็นสำเนาถูกต้องและระบุวัตถุประสงค์ในการใช้ข้อมูลนั้น ๆ ให้ชัดเจน หากแอปฯ นั้น ๆ มีการขอข้อมูลมากกว่าที่จำเป็น ก็ควรจะรีบทำการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของแอปฯ และผู้ให้บริการสินเชื่อในทันที
6. จำกัดวงเงินแต่ละวัน
แอปกู้เงินผิดกฎหมาย มักจะมีการจำกัดวงเงินในแต่ละวันอยู่ที่ 2,000-4,000 บาท เพราะมิจฉาชีพเหล่านี้รู้อยู่แล้วว่า หากเป็นคนที่เดือดร้อนเรื่องเงินจริง ๆ ไม่ว่าจะเงินเท่าไหร่ก็จะตัดสินใจกู้อยู่ดี
หากโดนหลอกโอนเงินควรทำอย่างไรดี
ได้ทราบวิธีตรวจสอบแอปสินเชื่อกันไปแล้ว แต่เราเชื่อว่าจากความแนบเนียนของมิจฉาชีพ และปัญหาด้านการเงินที่ทำให้หลาย ๆ คนอาจจะมองข้ามการตรวจเช็กบางจุด ก็น่าจะยังมีคนจำนวนไม่น้อยเลยที่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพไป แต่สิ่งแรกที่คุณควรทำเลยก็คือ ตั้งสติให้ดี พยายามรวบรวมหลักฐานให้ได้มากที่สุด แล้วไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ จากนั้นนำใบแจ้งความที่ได้ไปแจ้งกับธนาคารเจ้าของบัญชีที่โอนเงินเพื่ออายัดบัญชีของมิจฉาชีพภายใน 72 ชั่วโมง แม้ว่าจะเสียเวลาสักหน่อย แต่ก็ดีกว่าปล่อยให้เงินที่เราหามาด้วยน้ำพักน้ำแรงไปอยู่ในมือของมิจฉาชีพ
สรุปบทความ
การขอสินเชื่อผ่านแอปพลิเคชัน เป็นวิธีกู้เงินแบบถูกกฎหมายที่มีความสะดวกสบาย เพราะผู้กู้จะไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปธนาคารด้วยตัวเอง และสำหรับคนที่วางแผนว่าจะขอสินเชื่อผ่านแอปพลิเคชัน หรือเว็บไซต์ก็สามารถนำวิธีตรวจสอบแอปสินเชื่อที่เรารวบรวมมาในบทความนี้ไปใช้งาน เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเพื่อขอสินเชื่อไปได้