เช็กรายการลดหย่อนภาษี 2567 สำหรับมนุษย์เงินเดือน

27/11/2567
การเงิน-ธุรกิจ

เช็ครายการลดหย่อนภาษี

 

ใกล้ถึงช่วงเวลายื่นภาษีอีกปีนึงแล้ว แน่นอนว่าการเสียภาษีอย่างถูกต้องเป็นหน้าที่ของชาวมนุษย์เงินเดือนทุกคน แต่ไม่ว่าใครก็คงอยากเสียภาษีให้น้อยที่สุดเท่าที่ทำได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งการลดหย่อนภาษีจะช่วยลดภาระทางภาษีของเราได้มาก หากเรารู้จักเลือกใช้อย่างเหมาะสม ในปีภาษี 2567 นี้มีหลายวิธีที่สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ ที่สำคัญในปีนี้ยังมีการลงทุนในกองทุนเพื่อการออมยั่งยืนอย่าง Thai ESG ที่ได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลช่วยลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย ก่อนอื่นต้องเข้าใจการคำนวณภาษีก่อนว่าเงินได้สุทธิต่อปีเท่าไหร่จะได้รับอัตราภาษีเท่าไหร่

 

เงินได้สุทธิต่อปี

อัตราภาษี

ภาษีสะสมสูงสุดของขั้น*

ไม่เกิน 150,000 บาท

ได้รับการยกเว้น

-

150,001 - 300,000 บาท

5%

7,500

300,001 - 500,000 บาท

10%

20,000

500,001 - 750,000 บาท

15%

37,500

750,001 - 1,000,000 บาท

20%

50,000

1,000,001 - 2,000,000 บาท

25%

250,000

2,000,001 - 5,000,000 บาท

30%

900,000

5,000,001 บาท ขึ้นไป

35%

-

 

*ภาษีสะสมสูงสุดของขั้น ใช้ในการคำนวณภาษีในขั้นถัดไปในส่วนของ “คำนวณภาษีที่ต้องจ่ายแบบขั้นบันได”

วิธีคำนวณภาษี

1. คำนวณหาเงินได้สุทธิ
ก่อนอื่นเราต้องคำนวณหาเงินได้สุทธิเพื่อนำมาใช้ในการคำนวณภาษีก่อน โดยคำนวณจากการนำเงินได้ทั้งปี 2567 มารวมกัน แล้วหักด้วยค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน ตามสูตรด้านล่าง

เงินได้ทั้งปี - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิ

ซึ่งเราสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 50% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนค่าลดหย่อนที่เราสามารถนำมาลดหย่อนได้ทันทีเลย ก็คือ ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท และค่าประกันสังคมที่จ่ายตามจริง สูงสุด 9,000 บาท ส่วนรายการอื่นๆจะต้องไปดูว่า

2. คำนวณภาษีที่ต้องจ่ายแบบขั้นบันได

ต่อมานำเงินได้สุทธิลบด้วยเงินได้สุทธิสูงสุดของขั้นก่อนหน้า แล้วคูณกับอัตราภาษีแต่ละขั้น และบวกด้วยภาษีสะสมสูงสุดของขั้นก่อนหน้า เพื่อหาว่าเราต้องจ่ายภาษีเท่าไหร่ โดยเทียบกับอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบบขั้นบันได เขียนเป็นสูตรได้ดังนี้

ภาษี = [(เงินได้สุทธิ - เงินได้สุทธิสูงสุดของขั้นก่อนหน้า) x อัตราภาษี ]+ ภาษีสะสมสูงสุดของขั้นก่อนหน้า

ตัวอย่าง นายพรอมิสมีรายได้ทั้งปี 850,000 บาท ไม่มีตัวช่วยลดหย่อนเพิ่มเติมเลย จะสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 100,000 บาท ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท และค่าลดหย่อนจากประกันสังคม 9,000 บาท

จะได้เงินได้สุทธิ 850,000 - 100,000 - 60,000 - 9,000 เท่ากับ 681,000 บาท จากนั้นนำเงินได้สุทธิไปเทียบอัตราภาษีแบบขั้นบันได ซึ่งจะอยู่ระหว่างฐาน 500,001 - 750,000 บาท อัตราภาษี 15% ซึ่งทำให้นายพรอมิสต้องเสียภาษี (681,000 - 500,000) x 15% + 20,000 เท่ากับ 47,150 บาท

จะเห็นได้ว่า นายพรอมิสมีรายได้ทั้งปีสูงถึง 850,000 บาท แต่ถ้าไม่มีตัวช่วยลดหย่อนอื่น ๆ เพิ่มเติมเลย จะทำให้นายทีต้องเสียภาษีถึง 64,650 บาท ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่เยอะพอสมควร

งั้นมาดูกันว่า เราจะมีตัวช่วยอะไรบ้างที่จะทำให้เราลดหย่อนภาษี 2567 ได้อีก แล้วมาคำนวณดูว่าท้ายที่สุดแล้วเราต้องเสียภาษีเท่าไหร่
 

คำนวณภาษี

1. ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว

เป็นสิทธิลดหย่อนภาษีขั้นพื้นฐานที่ทุกคนได้รับตามกฎหมาย ส่วนจะลดภาษีได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัย ดังรายละเอียดต่อไปนี้

1.1 ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัว

ลดหย่อนได้ 60,000 บาท และสิทธินี้ชาวไทยทุกคนใช้ได้หมดไม่ว่าจะอยู่ในสถานะโสด, แต่งงานแบบจดทะเบียนสมรส หรือไม่ได้จดทะเบียนก็ตาม

1.2 ค่าลดหย่อนภาษีคู่สมรส

ลดหย่อนได้ 60,000 บาท แต่หลายคนเข้าใจว่าแค่แต่งงานจะได้ลดหย่อนภาษีทันที 60,000 บาท ไม่ใช่นะ เพราะต้องเป็นคู่สมรสที่ต้องจดทะเบียนสมรส และคู่สมรสต้องไม่มีรายได้ด้วย ถึงจะได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีในส่วนนี้

1.3 ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตร

ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตร ให้สิทธิภรรยาผู้มีเงินได้ใช้ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง ไม่เกินครรภ์ละ 60,000 บาท

1.4 ค่าลดหย่อนภาษีบุตร

ครอบครัวไหนมีลูกหลายคนได้เปรียบแน่นอน เพราะลดหย่อนภาษีได้ถึงคนละ 30,000 บาท หากเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย สามารถหักลดหย่อนได้ไม่จำกัดจำนวนคน แต่ถ้าเป็นบุตรบุญธรรม สามารถหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 3 คน โดยมีเงื่อนไขดังนี้
อายุไม่เกิน 20 ปี
ถ้าอายุ 21 – 25 ปี ต้องศึกษาอยู่ในระดับ ปวส. ขึ้นไป
บุตรมีเงินได้ไม่ถึง 30,000 บาทต่อปี
กรณีบุตรคนที่ 2 ขึ้นไปที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป จะสามารถลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท

1.5 ค่าลดหย่อนสำหรับเลี้ยงดูบิดามารดาของตนเองและของคู่สมรส

หากใครต้องดูแลพ่อแม่ที่อายุเกินกว่า 60 ปีขึ้นไป และพ่อแม่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท จะได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน และสิทธินี้ยังครอบคลุมไปถึงพ่อ-แม่ของคู่สมรสอีกด้วย หมายความว่าถ้าคุณดูแลพ่อแม่ตัวเอง+พ่อแม่แฟนด้วยแล้ว จะลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 120,000 บาท

1.6 ค่าลดหย่อนภาษีกรณีอุปการะผู้พิการหรือบุคคลทุพพลภาพ

หากต้องดูแลผู้พิการที่บ้านไม่ว่าจะเป็น พ่อ-แม่-บุตร สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท แต่ผู้พิการหรือทุพพลภาพนั้นจะต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท ด้วย และต้องมีหลักฐานว่าคุณเป็นผู้อุปการะจริงๆ ผ่านใบรับรองแพทย์ หรือว่าบัตรประจำตัวคนพิการ

2. ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มประกัน เงินออม และการลงทุน

สิทธิลดหย่อนภาษีกลุ่มดังกล่าว ผู้สนใจใช้สิทธิต้องซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงิน หรือสมทบทุนในกองทุนที่รัฐกำหนด ดังรายละเอียดต่อไปนี้

2.1 เงินประกันสังคม

สามารถลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 9,000 บาท

2.2 เบี้ยประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์

จะได้สิทธิลดหย่อนภาษี ก็ต่อเมื่อซื้อประกันที่มีแผนกรมธรรม์คุ้มครองระยะเวลาเกิน 10 ปีขึ้นไป ต้องทำประกันกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย และถ้าหากมีการเวนคืนกรมธรรม์ก่อนครบ 10 ปี จะถือว่าเป็นการผิดเงื่อนไข ไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ซึ่งเบี้ยประกันชีวิตที่คุณได้จ่ายไป สามารถนำมาลดหย่อนได้ตามจริงสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท

2.3 เบี้ยประกันสุขภาพ และเบี้ยประกันอุบัติเหตุที่คุ้มครองสุขภาพ

เบี้ยประกันสุขภาพ และเบี้ยประกันอุบัติเหตุที่คุ้มครองสุขภาพใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 25,000 บาท และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์แล้วจะลดหย่อนได้ไม่เกิน 100,000 บาท เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้นจะอธิบายดังนี้

นายพรอมิส ซื้อประกันชีวิตจากบริษัท A จ่ายค่าเบี้ย 30,000 บาทต่อปี, ซื้อประกันสุขภาพแผน B จ่ายค่าเบี้ย 55,000 บาทต่อปี และซื้อประกันสุขภาพแผน C จ่ายค่าเบี้ย 25,000 บาทต่อปี ซึ่งรวมกันแล้วจ่ายค่าเบี้ยเท่ากับ 110,000 บาทต่อปี แต่ความจริงไม่ใช่แบบนั้น เพราะ ลดหย่อนเบี้ยประกันตามสิทธิลดหย่อนแล้ว จะลดภาษีได้สูงสุด 25,000 บาท เท่านั้น เมื่อรวมใหม่จะได้ 105,000 บาท แต่! อย่างที่บอกว่าลดหย่อนรวมได้ไม่เกิน 100,000 บาท เท่านั้น

2.4 เบี้ยประกันสุขภาพของบิดามารดา

ถ้าใครทำประกันให้พ่อแม่ก็สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท และบิดามารดาต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปีด้วย

2.5 เงินลงทุนธุรกิจ Social Enterprise (วิสาหกิจเพื่อสังคม)

ผู้ที่สนใจทำธุรกิจเพื่อสังคม หรือซื้อหุ้นกลุ่มดังกล่าวตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป สามารถนำเงินลงทุนไปเป็นค่าลดหย่อนภาษีได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท

2.6 กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG)

กองทุนที่เน้นลงทุนในบริษัทที่เกาะเมกะเทรนด์ความยั่งยืน ESG ซึ่งสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท เป็นวงเงินแยกต่างหาก โดยไม่ต้องนับรวมกับเงินลงทุนเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ ซึ่งเกณฑ์การถือครองหน่วยลงทุน ต้องถือหน่วยลงทุนเกินกว่า 5 ปีขึ้นไป (นับจากวันที่ซื้อหน่วยลงทุน)

2.7 กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF : Retirement Mutual Fund)

นอกจากกองทุน Thai ESG แล้ว กองทุน RMF ก็ให้สิทธิลดหย่อนภาษี 2567 ไม่เกิน 30% ของเงินได้ แต่สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่นๆ

2.8 กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF : Super Saving Funds)

ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่นๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท แต่มีข้อแม้ว่าเพื่อน ๆ ต้องถือหน่วยลงทุนของ SSF เกินกว่า 10 ปีขึ้นไปถึงจะใช้สิทธิลดภาษีได้ และกองทุน SSF สามารถนำค่าซื้อมาหักลดหย่อนภาษีได้ในปี 2563 - 2567 อย่างไรก็ดีหลังจากปี 2567 ต้องติดตามต่อไปว่าจะได้รับการขยายเวลาต่ออายุการใช้สิทธิลดหย่อนหรือไม่

2.9 กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) / กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน

พนักงานบริษัทเอกชน หรือครูเอกชนที่ได้ทำกองทุนดังกล่าวเอาไว้ นอกจากใช้สิทธิลดหย่อนภาษีของประกันสังคมได้แล้ว ยังใช้สิทธิลดภาษีจากกองทุน PVD หรือกองทุนสงเคราะห์ครูเอกชนได้ด้วย ซึ่งลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ ตามจำนวนที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่นๆ

2.10 กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ (กบข.)

ใครเป็นข้าราชการต้องจ่ายเงินกบข. เป็นประจำทุกเดือนอยู่แล้ว อย่าลืมขอลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท

2.11 กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)

ฟรีแลนซ์ พ่อค้า-แม่ค้า ที่ไม่มีกองทุนเหมือนกับสาขาอาชีพอื่น ก็สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้เช่นกันผ่านการออมในกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ซึ่งจะลดหย่อนภาษีได้ตามจริงสูงสุดไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี และเมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่นๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

2.12 เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ

ลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้พึงประเมิน ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท สามารถใช้สิทธิดังกล่าวควบคู่ไปกับเบี้ยประกันรูปแบบอื่น ๆ ได้ด้วย ทั้งนี้เมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่นๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

3. ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มเงินบริจาค

การบริจาคเงินก็อยู่ในเกณฑ์ที่สามารถลดหย่อนภาษีได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งมีเงินบริจาค 3 ประเภทที่อยู่ในเกณฑ์ลดหย่อนภาษี 

3.1 เงินบริจาคทั่วไป

ใครเป็นสายมู บริจาคให้วัดวาอาราม หรือมูลนิธิอยู่เป็นประจำ สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายค่าลดหย่อนกลุ่มอื่น ดังนั้นหลังบริจาคเสร็จแล้วให้ขอใบเสร็จไว้ด้วย เพื่อเป็นหลักฐานสำหรับการขอลดหย่อนภาษี

3.2 เงินบริจาคเพื่อการศึกษา

การกีฬา การพัฒนาสังคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ และบริจาคเพื่อสถานพยาบาลของรัฐ

จัดเป็นค่าลดหย่อนภาษีที่สูงกว่ากลุ่มอื่นเลยทีเดียว เพราะลดหย่อนภาษีได้ถึง 2 เท่าของเงินบริจาคจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าลดหย่อนภาษี

3.3 เงินบริจาคให้กับพรรคการเมือง

ใครมีพรรคการเมืองในดวงใจ ก็อย่าลืมบริจาคให้ด้วยนะ เพราะให้สิทธิลดหย่อนภาษีตามที่จ่ายจริงสูงถึง 10,000 บาท

4. ค่าลดหย่อนกลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ

สำหรับกลุ่มนี้ต้องติดตามข่าวสารเศรษฐกิจสักหน่อยว่ารัฐบาลได้มีโครงการอะไรออกมากระตุ้นเศรษฐกิจบ้าง และนอกจากโครงการรัฐแล้วใครที่กำลังผ่อนบ้านอยู่ ก็สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้เช่นกัน

4.1 Easy E-Receipt ที่มาแทนช้อปดีมีคืนลดหย่อนภาษี 2567

เนื่องจากแคมเปญนี้จบไปแล้ว ใครเข้าร่วมไปแล้วอย่าลืม! ซึ่งแคมเปญนี้ให้สิทธิลดหย่อนภาษีตามที่จ่ายจริงสูงสุดถึง 50,000 บาทต่อคน แต่ไม่ใช่สินค้าทุกรายการนะที่จะเข้าโครงการนี้ ก่อนใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจึงต้องตรวจสอบรายชื่อร้านค้าที่เข้าร่วมรายการเป็นอันดับแรก เมื่อซื้อเสร็จแล้วจะต้องขอใบเสร็จอิเล็กทรอนิกส์ หรือใบเสร็จจากร้านค้าที่ซื้อสินค้าและบริการในช่วงวันที่ 1 ม.ค. – 15 ก.พ. 2567 เพื่อใช้เป็นหลักฐานยืนยันในการรับสิทธิหักค่าลดหย่อนภาษี 2567

4.2 มาตรการเที่ยวเมืองรองลดหย่อนภาษีปี 2567

สำหรับบุคคลธรรมดาได้สิทธิลดหย่อนภาษีปี 67 เที่ยวเมืองรอง ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท สำหรับจังหวัดรอง 55 จังหวัด เมื่อเที่ยวตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม - 30 พฤศจิกายน 2567

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เที่ยวเมืองรอง ลดหย่อนภาษีปี 67 เช็กเลย

4.3 ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย

ไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยว คอนโด ทาวน์เฮ้าส์ ฯลฯ สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามค่าใช้จ่ายจริงไม่เกิน 100,000 บาท หมายความว่าถ้าทั้งปีจ่ายดอกเบี้ยไป 200,000 บาท ก็ลดได้แค่ 100,000 บาท นะ

เมื่อเราทราบสิ่งที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้แล้ว มาลองดูกันว่า จากตัวอย่างข้างต้นจะลดหย่อนได้อีกเท่าไหร่
ตัวอย่างเดิม
-    นายพรอมิสมีรายได้ทั้งปี 850,000 บาท
-    หักค่าใช้จ่ายได้ 100,000 บาท
-    ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
-    ค่าลดหย่อนจากประกันสังคม 9,000 บาท

เพิ่มเติมคือ
-    ค่าลดหย่อนภาษีบุตร 30,000 บาท
-    ค่าลดหย่อนสำหรับเลี้ยงดูบิดามารดา 30,000 บาท
-    เบี้ยประกันสุขภาพ และประกันชีวิต 100,000 บาท
-    กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) 100,000 บาท
-    กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) 127,500 บาท
-    Easy E-Recipt 50,000 บาท

จะได้เงินได้สุทธิ 850,000 - 100,000 - 60,000 - 9,000 - 30,000 - 30,000 - 100,000 - 100,000 - 127,500 เท่ากับ 293,500 บาท จากนั้นนำเงินได้สุทธิไปเทียบอัตราภาษีแบบขั้นบันได ซึ่งจะอยู่ระหว่างฐาน 150,000 - 300,000 บาท อัตราภาษี 5% ซึ่งทำให้นายพรอมิสต้องเสียภาษี (293,500 - 150,000) x 5% เท่ากับ 7,175 บาท เทียบกับตอนแรก 64,650 บาท เท่ากับว่าเซฟเงินไปได้ถึง 57,475 บาท เลยทีเดียว

หลังจากรู้จักกับสิทธิลดหย่อนภาษี 2567 ไปแล้วหวังว่าทุกคนจะสามารถวางแผนลดหย่อน เพื่อจะได้ประหยัดภาษีได้อย่างคุ้มค่าที่สุดตามสิทธิประโยชน์ของเรานะ แต่หากขัดสนต้องการเงินกู้สามารถใช้แอปเงินกู้ กู้เงินกับสินเชื่อส่วนบุคคลพรอมิส อนุมัติทันใจใน 1 ชั่วโมง* ได้แล้ววันนี้ทั้งทางเว็บไซต์และแอปกู้เงินบนระบบปฏิบัติการ iOS และ Android คลิกเลย! 
 
ดาวน์โหลดแอปกู้เงิน : https://bitly.promise.co.th/blog2411_03
 
สินเชื่อส่วนบุคคลพรอมิส
●    อนุมัติทันใจใน 1 ชั่วโมง*
●    สมัครง่ายได้ทุกที่
●    วงเงินสูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท*

กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว
ดอกเบี้ย 15%-25% ต่อปี
*กรุณาศึกษาข้อมูลผลิตภัณฑ์ก่อนการสมัครที่ promise.co.th
*เงื่อนไขเป็นไปตามที่บริษัทฯ และธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
*หากยื่นเอกสารครบถ้วนภายใน 18:00 น. และไม่มีเหตุขัดข้องด้านเอกสารหรือระบบ จะสามารถอนุมัติได้ภายใน 1 ชั่วโมง หรือภายในวันถัดไป
 

Tags: ลดหย่อนภาษี มนุษย์เงินเดือน

พร้อมรู้กับพรอมิส